08 กุมภาพันธ์ 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/08/1486033/1738963273_375025-tnamcot.jpg)
การเผาเพื่อการเกษตรมีจุดประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งการกำจัดเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยว กำจัดวัชพืช กำจัดแมลงศัตรูพืช หรือเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในฤดูถัดไป
ในประเทศไทยพบว่ามีการเผาทางการเกษตรในไร่ข้าวนาปรังมากที่สุด รองลงมาคือ ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด และไร่ข้าวนาปี
แม้การเผาพืชผลจะให้ประโยชน์ทางการเกษตรทันที แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชน จากมลพิษของฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ที่สามารถแทรกซึมลึกเข้าไปในปอดและเข้าสู่กระแสเลือด นำไปสู่สาเหตุการเกิดโรคหลากหลายชนิด ทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งปอด และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผลการศึกษาระหว่างปี 2003-2019 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications พบว่า ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาเพื่อการเกษตรในประเทศอินเดีย มีความสัมพันธ์ต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนระหว่าง 44,000 ถึง 98,000 ราย
ในปี 2023 มีรายงานพบว่าคนไทยจำนวน 2 ล้านราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฤดูการเผาเพื่อการเกษตรในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน
นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว การเผาเพื่อการเกษตรอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดต่อการทำเกษตรกรรมอีกด้วย
การเผาเพื่อการเกษตรส่งผลเสียต่อดินและส่งผลกระทบด้านการเติบโตของพืช
แม้มีความเชื่อว่าการเผาซากพืชทางการเกษตรช่วยเติมสารอาหารในดิน แต่กระบวนการดังกล่าวกลับส่งผลเสียต่อดินในระยะยาว
แม้ฟางจะเป็นแหล่งของสารอาหารที่เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับดิน แต่สารอินทรีย์และปริมาณสารอาหารส่วนใหญ่จะสูญเสียไปจากอุณหภูมิที่สูงจากการเผา
ในขณะเดียวกัน การเผายังรบกวนค่า pH ของดิน ส่งผลกระทบต่อความชื้นในดิน และทำลายสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา สาหร่าย โปรโตซัว ไส้เดือน ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบนิเวศในดิน
เผาเพื่อการเกษตรไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดซากพืชทางการเกษตร
ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีวิธีการสร้างรายได้จากซากพืชทางการเกษตรแทนการเผาหลายวิธี
กลุ่มเกษตรกรชุมชนบ้านแจงงาม จ.สุพรรณบุรี ยุติการเผาใบอ้อย แล้วเปลี่ยนมาอัดใบอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลเพื่อนำไปใช้ผลิตชีวมวล ราคาขายตันละ 1,000 บาท
กลุ่มเกษตรกร ต.บ้านปาน จ.พระนครศรีอยุธยา นำฟางข้าวไปขายให้กับบริษัทปูนซีเมนต์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์ ราคาขายตันละ 1,000 บาท
เศษซากพืชทางการเกษตร ยังสามารถนำไปคลุมโคนต้นไม้หรือแปลงผักเพื่อรักษาความชื้นและจุลินทรีย์ และเมื่อย่อยสลายแล้ว ก็สามารถนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้
มาตรการควบคุมการเผาเพื่อการเกษตรในต่างประเทศ
ในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร มีข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อการเผาเพื่อการเกษตร ข้อจำกัดเหล่านี้จำกัดปริมาณการเผาตอซังที่เกิดขึ้นทั่วทั้งทวีป ยกเว้นประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป เช่น ยูเครน เซอร์เบีย และรัสเซีย
ทางการในรัฐปัญจาบของอินเดียแจกจ่ายเครื่องจักร 120,000 เครื่องในปี 2022 เพื่อช่วยทำลายเศษซากพืชผล
นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียจากสถาบันวิจัยการเกษตรอินเดีย (IARI) ได้พัฒนา เครื่องย่อยสลายขยะ ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ตอซังแข็งนิ่มลงและแปลงเป็นปุ๋ยหมัก
ข้อมูลอ้างอิง :
www.tei.or.th/file/files/Agricultural%20Burning%20Management%20in%20Thailand_TEI-eng.pdf
https://documents1.worldbank.org/curated/zh/989351521207797690/pdf/124342-repl-WB-Knowledge-Burning.pdf
https://www.iqair.com/th-en/newsroom/crop-burning-smoke-global-health-threat?srsltid=AfmBOoqL1vU7EIGY39D1aqqYIMo2HAC0ulF-M2qSmzk2OJ8-fnFnQ_Jl
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter