ทำเนียบ 12 พ.ค.-“เพชรบุรี จัดให้” มอบลายเสื้อ “สุวรรณวัชร์-ต้นตาลโตนด วัวลาน” อัตลักษณ์ของจังหวัด ให้ ครม.ใส่ลงพื้นที่และประชุม ครม.สัญจร 13-14 พ.ค.นี้
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โชว์เสื้อที่ทางจังหวัดเพชรบุรี เตรียมมอบให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่มาลงพื้นที่ และเตรียมประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเพชรบุรี ได้สวมใส่ โดยในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมนี้ นายกฯ และรัฐมนตรี จะได้สวมใส่เสื้อลายตาลโตนด ระหว่างที่ชมการสาธิตวัวลาน โดยเสื้อถูกออกแบบจากแรงบันดาลใจ มีลวดลายต้นตาลโตนด อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดเพชรบุรี และยังมีขนมหม้อแกง รวมถึงศิลปะและวัฒนธรรม ลายบนเสาไม้ที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ผสานกับกีฬาโบราณพื้นบ้าน วัวลาน นำมาออกแบบลวดลายเพื่อให้ดูเก๋ไก๋ เป็นสากล เหมาะสำหรับสวมใส่ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง
ขณะที่การประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม นายกฯ และคณะรัฐมนตรี จะได้สวมใส่เสื้อผ้าลายสุวรรณวัชร์ ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ มอบเป็นของที่ระลึกให้ ครม. โดยความเป็นมาลายผ้าสุวรรณวัชร์ เป็นลายที่ประยุกต์มาจากลายกรวยเชิงที่ลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งจะมีเสาอยู่ทั้งหมด 5 คู่ เสาทุกต้นจะมีลายกรวยเชิงเหมือนกันอยู่ด้านล่าง นักวิจัยเห็นพ้องต้องกันว่า ลายกรวยเชิงเป็นลายที่สามารถนำมาไว้บนผืนผ้าได้ และมีความเหมาะสมสำหรับการสวมใส่
ส่วนความหมายของลายผ้าสุวรรณวัชร์ คำว่า “สุวรรณ” หมายถึงวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งเป็นวัดที่มีศิลปกรรมที่สมบูรณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ส่วนคำว่า “วัชร์” แปลว่า เพชร หมายถึง จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้น คำว่า “สุวรรณวัชร์” จึงหมายถึง ผ้าจากลายวัดใหญ่สุวรรณาราม และเป็นผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี
นางรัดเกล้า ระบุว่า แนวคิดการคัดเลือกลายผ้าสุวรรณวัชร์ เป็นลายผ้าที่ผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยการคิดค้นลายผ้า ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเพชรบุรี ที่มาจากศิลปกรรมของวัดใหญ่สุวรรณาราม และเป็นตัวแทนของคนเพชรบุรี เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยามากมายและชัดเจน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงได้ทำการวิจัยลายที่ปรากฏที่เสาพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม โดยมีชื่อลายว่า “เพชรราชภัฏ” คำว่า ราชภัฏ แปลว่า คนของพระราชา เพชร มาจากลายที่มาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม คนเพชรบุรีทั้งหมดถือว่าเป็นเพชร คำว่า “เพชรราชภัฏ” หมายถึง ผ้าของคนของพระราชา และจากการประชุมเพื่อพิจารณาและรับรองลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ที่ประชุมมีมติรับรองให้ใช้เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี โดยเห็นชอบให้มีการประยุกต์จากลายกรวยเชิงที่ลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งจะมีเสาอยู่ทั้งหมด 5 คู่ เสาทุกต้นจะมีลายกรวยเชิงเหมือนกันอยู่ด้านล่าง และสามารถนำมาไว้บนผืนผ้าได้ มีความเหมาะสมสำหรับการสวมใส่ โดยใช้ชื่อลายว่า “สุวรรณวัชร์”
ขณะที่การถอดแบบลายผ้า ใช้เทคนิคการถอดแบบ โดยเลือกโครงร่างจากลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม คู่ที่ 2 นับจากประตูทางเข้า ลวดลายเทพพนมครึ่งองค์ในทรงพุ่ม ก้านแย่ง ปิดหัวท้ายด้วยกรวยเชิง ผู้ถอดแบบลายผ้าที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะทางการถอดแบบลาย ใช้วิธีการร่างเส้นลงในกระดาษกราฟให้เป็นรูป ตามภาพที่ปรากฏตามโครงร่างจากลายเสาในพระอุโบสถที่เลือกไว้ จากนั้นจึงนำไปเป็นแบบในการทอผ้าและการพิมพ์ลาย รวมถึงเทคนิคในการผลิตด้วยวิธีอื่นๆ ส่วนวิธีการผลิต/เทคนิคการผลิต ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายแบบ digital print ชนิดของผ้าเรียกว่า เรยอน สีของผ้าคือ สีเหลือง.-314.-สำนักข่าวไทย