เชียงราย 1 ธ.ค. – นายกฯ ควงหลายหน่วยงาน ร่วม “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” ดึงแบงก์รัฐ ร่วมฟื้นฟูภาคเหนือ ใช้โมเดลเดียวกันช่วยภาคใต้
น.พ.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “คลังสัญจร ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” หลังจากหลายหน่วยงาน ร่วมกันลงพื้นฟูภาคเหนือ ทั้ง จ.เชียงใหม่ เชียงราย จนสามารถกลับมาเปิดกิจการได้เหมือนเดิม รัฐบาลได้มอบเงินชดเชยบ้านต้องล้างโคลนหลังละ 10,000 บาท ขณะที่แบงก์รัฐร่วมกันออกหลายมาตรการช่วยฟื้นฟู ทั้งประชาชนรายย่อย SME เช่น การพักหนี้ การลดดอกเบี้ย อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุกทภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย ลดเงินต้นผ่อนชำระ รวมถึงการเร่งจ่ายสินไหมชดเชยให้แก่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ที่กำลังประสบปัญหารุนแรงอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลจะยึดโมเดลเดียวกันในการช่วยเหลือนภาคเหนือ เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวใต้ได้เช่นเดียวกับพี่น้องชาวภาคเหนือ โดยนายกรัฐมนตรี ยังขอให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ เพราะขณะนี้ได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงเชิญชวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เข้ามาเยือนภาคเหนือ เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว มีบรรยากาศที่ดี เพื่อร่วมกันจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเหนือ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากความช่วยเหลือของแบงก์รัฐ กระทรวงการคลังยังจะดึงธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วย ด้วยการยกดอกเบี้ยให้กับลูกค้าที่ปฎิบัติตามเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกันจะให้กรมบัญชีกลางเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณท้องถิ่น และการลงทุนเพื่อให้เงินลงสู่ระบบ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีตามที่คาดการณ์
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อหลายหน่วยงานร่วมกันช่วยฟื้นฟูภาคเหนือ จะทำให้ร้านค้า กิจการห้างร้านต่าง ๆ กลับมามีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการค้าบริเวณด่านแม่สายกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ขณะที่การช่วยเหลือของแบงก์รัฐหลังจากครม.อนุมัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท ใช้แหล่งเงินผ่านธนาคารออมสิน หากปัญหาภาคใต้ต้องการวงเงินเพิ่มเติม ตามที่ครม.อนุมัติไว้ พร้อมพิจารณาขยายวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และร้านค้าต่าง ๆ เพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาล ยังช่วยเหลือ ลดภาระให้กับประชาชนในพื้นที่ หากเงินรับชดเชยจากรัฐบาล เงินหรือทรัพย์สินรับบริจาคได้รับการยกเว้นภาษี โดยผู้ประสบอุทกภัยไม่ต้องนำเงินช่วยเหลือที่ได้รับไปเสียภาษีเงินได้ ประชาชน และนิติบุคคล สามารถนำค่าเสียหายคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำณวณภาษีได้ ส่วนผู้บริจาคให้กับส่วนราชการหรือมูลนิธิ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หักลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เมื่อมีเงินได้ จะได้รับการยกเว้นภาษีจำนวนเท่ากับค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น (มีผลเท่ากับการหักค่าใช้จ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่าช่วยค่าซ่อมรถได้ 4 ล้านราย ช่วยค่าซ่อมแซมบ้าน 4 ล้านราย)
สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สิน ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,00 บาท รวมทั้งค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมด ไม่เกิน 30,000 บาท นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อลดภาระให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ.-515 -สำนักข่าวไทย