กรุงเทพฯ 9 ต.ค.-นักวิชาการชี้ความขัดแย้งอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ทำน้ำมันโลก หวั่นขยายไปประเทศข้างเคียงทำราคาพุ่งอีก แนะจับตาใกล้ชิด
ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า แนะจับตาสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกขณะนี้ค่อนข้างสับสนพอสมควรเนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง จากความต้องการใช้น้ำมันที่แผ่วลงไป แต่เหตุที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์เปลี่ยน เพราะเกิดความกังวลว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น และกังวลว่าความขัดแย้งจะขยายกว้างออกไปยังประเทศข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นซาอุฯ คูเวต หรืออียิปต์ จึงทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น เพราะไม่เฉพาะเรื่องการผลิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการขนส่งด้วย แต่หากความขัดแย้งอย่างจำกัดอยู่เพียงเท่านี้ราคาน้ำมันก็จะกลับไปสู่แนวโน้มเดิม ซึ่งยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย ช่วงนี้อาจจะเห็นผลไม่แต่ชัด เพราะผลกระทบจะสะท้อนผ่านราคาน้ำมันเนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลมีไม่มาก และประเทศไทยอยู่ห่างไกลจึงไม่มีอิทธิพลใดๆ ดังนั้นแนวปฏิบัติที่ไทยสามารถทำได้คือ การร่วมกับอาเซียนหรือเวทีสหประชาชาติร่วมกดดัน
ส่วนกรณีที่ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท “เพราะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย” นั้น เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว นักท่องเที่ยวก็กลับเข้ามาแล้ว สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ
การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
และเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการแจกเงินโดยไม่เลือกฐานะ การแจกเงิน 10,000 ให้กับคนรวยแทบจะไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
ส่วนตัวคิดว่าควรช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนยากจนที่มีอยู่ อาจจะต้องใช้วงเงินเพียง 100,000 ล้านบาท ก็จะไม่เป็นภาระให้กับรัฐบาลในอนาคตในการต้องหาเงินมาใช้หนี้.-สำนักข่าวไทย