กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – นายกฯ ติดตามแผนบริหารจัดการน้ำ กำชับ รมว.ธรรมนัส เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงทุกจุดเนื่องจากขณะนี้มีฝนชุก ต้องระบายน้ำให้เร็ว ขณะเดียวกันเป็นจังหวะที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้ง รองรับสถานการณ์เอลนีโญที่จะลากยาวตลอดปี 2567
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเดินทางมายังกรมชลประทานเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่าในลำน้ำสายหลักและแผนบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝน 2566 โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานต้อนรับ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังทุกพื้นที่เสี่ยง โดยขณะนี้มีฝนตกชุกทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำชี-มูล จึงขอให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำ ขณะเดียวกันให้เก็บกักน้ำสำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึงด้วยเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จากการที่ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับขณะนี้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และเร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่มีปริมาณการใช้น้ำสูงเนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวมาก
สำหรับฤดูแล้งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะประชุมเพื่อกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำรองรับสภาวะเอลนีโญอีกครั้ง พร้อมกันนี้จะหารือกับกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเพาะปลูก ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาต่อเนื่อง แล้วหันไปปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากสภาวะเอลนีโญอาจต่อเนื่องตลอดปี 2567
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่คงเหลือจากการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งนั้น ได้วางแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และเพื่อความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนนี้ บางส่วนจะถูกนำไปเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำและพื้นที่แก้มลิง ในเขตจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี รวมทั้ง สนับสนุนการผลิตประปาของการประปานครหลวง และการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีมูล มีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้จัดจราจรน้ำ เชื่อมโยงกันตั้งแต่ตอนบนของลุ่มน้ำชี โดยใช้เขื่อนระบายน้ำทั้ง 6 แห่ง ส่วนพื้นที่ตอนกลางได้ยกบานระบายเขื่อนทดน้ำทุกแห่ง ด้านพื้นที่ตอนปลายเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำกว่าแม่น้ำมูล ทำให้การระบายน้ำยังทำได้ดี แต่ยังคงเฝ้าระวังติดตามฝนที่จะตกต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 49,496 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 26,886 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 12,588 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 12,283 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 16 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 5.68 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.71 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 4.82 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก (เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติด้านเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกอบด้วย
- เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลกว่า 113 รายการ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 38 เครื่อง รถขุด 6 คัน เรือกำจัดวัชพืช 25 ลำ รถแทรกเตอร์ 2 คัน รถเทรลเลอร์ 3 คัน รถบรรทุกและยานพาหนะ 20 คัน และรถบรรทุกน้ำ 19 คัน
- เตรียมจัดตั้งคลังสำรองทรัพยากร ได้แก่ การสำรองเสบียงอาหารสัตว์ (หญ้าแห้งอัดฟ่อน) ตามศูนย์/สถานี 30 ตัน ซึ่งเกษตรกรขอรับได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาทและศูนย์ดงเกณฑ์หลวง อ. วัดสิงห์ สำรองเวชภัณฑ์ยา และวัคซีนสำหรับสัตว์ต่างๆ
- ด้านการผลิตทางการเกษตร แบ่งออกเป็น
- ด้านพืช จะจัดทำการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งปี 2564/2565 โดยการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการปลูกพืชอายุสั้น/งดทำนาปรังรอบที่ 2 ส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย และให้ปลูกพืชหลากหลายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกษตรกรรับทราบสถานการณ์ แนวโน้มการระบาดศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้ง สำรวจข้อมูลพื้นที่ที่ประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง และเร่งรัดจัดทำข้อมูลสถานการณ์เนื้อที่เพาะปลูก และเนื้อที่เสียหายผ่านระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตรเป็นประจำทุกเดือน
- ด้านประมง มีการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยการบริหารจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร อาสาเฝ้าระวังภัยแล้ง ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำใน 8 อำเภอ ทยอยจับสัตว์น้ำที่มีขนาดโต หรือได้ขนาดขึ้นมาจำหน่าย/บริโภคเพื่อลดความเสี่ยง
- ด้านปศุสัตว์ สนับสนุนหญ้าแห้งเพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกร 30 ตัน และเวชภัณฑ์สัตว์ต่าง ๆ ทำการผลิตสำรองเสบียงอาหารสัตว์ตามศูนย์/สถานีอาหารสัตว์ 30,000 กิโลกรัม.-สำนักข่าวไทย