ก้าวไกล 2 ก.ค.-8 พรรคร่วม ยังไร้ข้อสรุป “เก้าอี้ประธานสภา” ด้าน “พิธา” ขอสื่อฯ อย่าเปิดประเด็นใหม่ หวั่นสังคมสับสน ส่วน “เพื่อไทย” เตรียมออกมติ กก.บห.-ส.ส. พรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ก่อนเที่ยง พร้อมขอบคุณ “พิธา” เข้าใจความเห็นต่างในพรรค ด้าน “วันนอร์” ขอสละสิทธิ์ตำแหน่งรองประธานสภาฯ เปิดทางตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงผลการประชุมหัวหน้าพรรค และแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในวันนี้ (2 ก.ค.) ถึงประเด็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า มีการพูดคุยกันเล็กน้อย และทิศทางเป็นไปด้วยดี มีความคืบหน้า บนพื้นฐานที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะมอบหมายให้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้แถลงต่อ
นายแพทย์ชลน่าน ได้ขอบคุณว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่ให้เกียรติพรรคเพื่อไทย แถลงรายละเอียด ซึ่งยอมรับว่า การทำงานในพรรคเพื่อไทย มีความหลากหลายของบุคลากร จึงมีความเห็นต่างมาก และการทำงานภายใน ต้องอาศัยข้อบังคับพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ยอมรับความเห็นที่เกิดขึ้น โดยพรรคเพื่อไทย จะนำวาระการหารือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จากคณะเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหาร และ ส.ส.ของพรรคในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) และมั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปก่อน 12.00 น. ก่อนที่จะแจ้งให้พรรคก้าวไกลทราบ และก่อนจะมีการลงมติเพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้
นายแพทย์ชลน่าน ยังย้ำด้วยว่า ในการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย มีเจตจำนงมุ่งผลสัมฤทธิ์ ให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ของ 8 พรรคฯ เท่านั้น เพราะหากผลสรุป ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ก็จะส่งผลกระทบต่อ 8 พรรคฯ ด้วย แต่ยืนยันว่าข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) จะเป็นประโยชน์แน่นอน
นายแพทย์ชลน่าน ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถาม หากมีการเสนอชื่อ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จากพรรคการเมืองอื่น โดยระบุว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก และไม่อยากให้มีประเด็นใหม่ มากระทบต่อการดำเนินการในขณะนี้ และขอให้รอความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) พร้อมยืนยันว่ากระบวนการในการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคเพื่อไทยนั้น ส.ส.จะต้องยึดมติพรรค แม้จะมีเอกสิทธิ์ส่วนตัวก็ตาม
เช่นเดียวกับ นายพิธา ที่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในกรณีที่พรรคเพื่อไทย ยอมให้พรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเงื่อนไขที่พรรคก้าวไกล จะต้องสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี หากนายพิธา ไม่สามารถได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐสภาได้ โดยย้ำเพียงว่า พรรคก้าวไกล มีความปรารถนาในการเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ และหวังว่า จะไม่มีประเด็นขึ้นใหม่มากระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว และควรรอความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) โดยยอมรับข้อกังวลที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมต่อการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล เพียงแต่ขออย่าเพิ่งมีการเปิดประเด็นใหม่ เพราะอาจจะมากระทบต่อการดำเนินการในปัจจุบันได้ และยืนยันว่า การประชุมของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นไปได้ด้วยดี มีเอกภาพ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเช่นเดิม
ทั้งนี้ สื่อมวลชน พยายามสอบถามนายพิธา ถึงกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร, การลงมติอย่างอิสระ หรือฟรีโหวตของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่นายพิธา ได้ย้ำทุกคำถามว่า “อย่าเพิ่งเปิดประเด็นใหม่” เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน เปรียบเสมือนการกินข้าวทีละคำ ดื่มชาทีละถ้วย
ด้าน นายวันมูหะหมัดนอร์ มะนา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงเงื่อนของรองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคประชาชาติ เป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 3 ของพรรคร่วมฯ ว่า พรรคประชาชาติ ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และต้องการให้ 8 พรรคร่วมฯ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จึงยินดีเสียสละ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสำเร็จ และหวังว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 40 กว่าชั่วโมงขณะนี้ สร้างชัยชนะให้ประชาชน ในการได้รัฐบาลประชาธิปไตยได้ เพื่อไม่ให้โอกาสตกไปกับฝ่ายที่รออยู่ เพราะประเทศ เสียเวลาไป 8-9 ปี เพื่อรอประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชน จึงหวังว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะเข้าใจ เพื่อให้ชัยชนะเป็นของประชาชนที่รอคอยรัฐบาลใหม่อยู่ ซึ่งหากทำพลาด ประชาชนที่ยังเชียร์อยู่ อาจจะไม่ให้อภัยในความผิดหวังครั้งนี้
นอกจากนั้น ในการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ (2 ก.ค.) ยังมีการติดตามการทำงาน ของคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Team ในคณะทำงานย่อยด้านพลังงาน ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคม และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และปากท้องประชาชน ซึ่งที่ประชุม ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการราคาน้ำมันดีเซล ที่จะมีการขึ้นราคา ซึ่งที่ประชุมฯ ก็มีความเห็นตรงกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการขึ้นราคาในขณะนี้ และสามารถขยายเวลาออกไปได้ก่อน แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน รวมถึงค่าไฟฟ้า ที่จะต้องมีการหาสมดุลราคาพลังงาน และสมดุลสิ่งแวดล้อม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน นอกจากนั้น ยังเห็นชอบให้มีการตั้งวอร์รูม เพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ โดยมีตำรวจ และดีเอสไอ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาติดตามการแก้ปัญหา การเปลี่ยนระบบเน็ตประชารัฐ เป็นอินเตอร์เน็ตประชาชน ใช้ระบบไฟเบอร์ออปติก ซึ่งค่าใช้จ่ายจะถูกกว่า และระบบเสถียรกว่า รวมถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลไอดีการ์ด ให้บัตรประชาชนใบเดียวของประชาชน สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการศึกษาได้มากขึ้น และการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้ประโยชน์จากสัญญาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ทั้งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ และผลักดันให้เกิดตลาดใหม่ ๆ ในเขตพื้นที่ที่กรเจรจายังไม่สำเร็จ หรือยังไม่มีการเจรจา เช่น FTA ไทย-ยุโรป หรือการเปิดตลาดกับตุรกี และดูไบ หรือประเทศที่เกี่ยวข้อพลังงาน และราคาปุ๋ย เพื่อให้การส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ในการสร้างแรงจูงใจในการชำระคืน และช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งในการลดค่าปรับ เน้นการลดเงินต้น มากกว่าดอกเบี้ย การแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการ ครู และตำรวจ ที่มีรายรับไม่พอรายจ่าย ไม่มีโอกาสได้รับเงินตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ที่ประชุมฯ จึงมีการเสนอให้กรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูล และพิจารณาการหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินกู้ โดยจะต้องให้มีเหลือสำหรับใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน และให้สามารถชำระเงินต้นเงินกู้ได้ เพื่อลดยอดเงินกู้
นายพิธา ยังย้ำด้วยว่า ปลายทางการทำงานของ Transition Team และคณะทำงานย่อย จะได้ข้อสรุปเพื่อเป็นนโยบายของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่ตนเอง จะใช้ในการแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภา และเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อให้การบริราชการแผ่นดิน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย