สำนักข่าวไทย 14 มิ.ย.- “จรัญ” ระบุ ส.ส. มีสิทธิเสนอชื่อ “พิธา” ชิงนายกฯ แม้ กกต.จะดำเนินคดีอาญาตาม ม.151 ขาดคุณสมบัติหรือไม่ ต้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย ติงสื่อพิจารณาคดีกันเองเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน หวั่นสังคมแตกแยก เกิดสงครามบนถนน
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติว่า การดำเนินคดีกับนายพิธา ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฐานรู้ว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการดำเนินคดีทางอาญา ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวกับการตัดคุณสมบัติหรือวินิจฉัยลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย ดังนั้น ไม่น่าจะมีอะไรขัดขวางการเสนอชื่อนายพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“เว้นแต่เมื่อรับรอง ส.ส.แล้ว ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1ใน 10 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ 50 คน เห็นว่ามีมูลเหตุว่านายพิธาขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ และจะพัวพันไปถึงการจะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย มีสิทธิเสนอเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม แต่หากไม่มี ส.ส.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กกต.ก็มีอำนาจตรวจสอบเรื่องนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งกว่าจะคดีจะเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่ารับเรื่องหรือไม่ และจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญและใช้เวลานานพอสมควร” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวว่า ขณะนี้ควรเดินหน้าตามขั้นตอนกฎหมาย โดยรอให้ กกต.รับรอง ส.ส.ให้ครบร้อยละ 95 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นประธานสภาแแทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาจะนัดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้นยังไม่ทราบว่าจะมีคำร้องต่าง ๆ อย่างไร จะมีใครส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และไม่ทราบว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร สมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะมีผลต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เขาไม่ได้ร้องเพิกถอนคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เว้นแต่ผู้ร้องจะร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ด้วย ซึ่งไม่มีช่องทางให้ไป ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจบที่ศาล
“ขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการที่จะให้ไปสู่ศาลอย่างชัดเจน ยังมีความซับซ้อนมาก แต่กลับมีการพิจารณาคดีทางสื่อ โดยแต่ละฝ่ายหยิบหลักฐานออกมาแสดง เพื่อชี้ไปยังประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีขั้นตอน ไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ละคนว่าไปตามความคิดของตน แล้วในที่สุดแต่ละฝ่ายที่สนับสนุนก็แบ่งฝ่ายทะเลาะกัน 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย โดยไม่มีข้อยุติ ซึ่งผมกังวลวว่าในที่สุดจะนำไปสู่สงครามบนท้องถนน จึงอยากให้เรื่องนี้ไปจบด้วยกระบวนการทางนิติ คือไปจบที่ศาล ไม่เช่นนั้นสังคมก็เดินไม่ได้” นายจรัญ กล่าว.-สำนักข่าวไทย