กรุงเทพฯ 6 มี.ค. – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดสัมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 จำนวน 9 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 แปลง ได้แก่บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ และพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี รวมเป็นขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร โดยมีกำหนดเปิดให้ยื่นซองประมูล 1-16 กรกฎาคม 2568 คาดจะสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวงภาษีปิโตรเลียม รวมถึงการจ้างงานคนไทย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานฯ ว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านเรามีอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง โดยเพิ่มขึ้นทุกเซกเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยปริมาณการใช้ไฟของปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2566 6% เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมาก โดยปกติเราจะเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้น 1-2% ส่วนตัวเลขพีคไฟฟ้าปี 2567 อยู่ที่ 36,792 เมกกะวัตต์ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งปีสูงกว่า 2.2แสนล้านหน่วย หนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าในบ้านช่วงกลางคืนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แสดงว่ามีการติดตั้งโซลาร์กันเยอะ พีคไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นในช่วง 3-4 ทุ่ม
ดังนั้นเราจึงต้องมีการค้นหาปิโตรเลียมภายในประเทศเพิ่มขึ้น แม้ว่าปีที่แล้วเราจะสามารถผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเมนเทนได้ตลอด แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าLNG จำนวนมาก โดยสัญญาระยะยาว( Long term ) อยู่ที่ 5 ล้านตันต่อปี ส่วนตลาดจร (Spot LNG) ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงโดยปี 2567 นำเข้า Spot LNG 94 ลำ สูงสุดเท่าที่เคยมีมา ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) เพื่อนำมาใช้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในบ้านเราจะเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Data center ปริมาณรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ปิโตรเลียมยังมีความสำคัญสำหรับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างเสริมอำนาจการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง เพื่อประชาชน” นายประเสริฐ กล่าว
นายวรากร พรหโมบาล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในพื้นที่ 9 แปลงมีการประเมินทางธรณีวิทยา ว่ามีความเป็นไปได้ และมีโอกาสพบปิโตรเลียม โดย 7 แปลงในภาคอีสาน กรมเชื้อเพลิงคาดว่ามีศักยภาพและมีความเป็นไปได้สูงจะพบก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมาซัพพอร์ตความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันจะช่วยให้การสำรวจและขุดเจาะประสบความสำเร็จมากขึ้น และต้นทุนน้อยลง โดยคาดว่าในพื้นที่ภาคอีสานต้องใช้งบประมาณในการจุดเจาะราวๆ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหลุม ส่วนภาคกลางคาดว่าประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหลุม สาเหตุที่การขุดเจาะในพื้นที่ภาคอีสานต้องใช้งบประมาณสูงกว่า เนื่องจากโครงสร้างดินแข็ง ขุดเจาะยากกว่า
ส่วนในพื้นที่อันดามันคาดว่าจะมีการเปิดเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 26 ช่วงปลายปี 2568
หลังจากนี้ เอกชนผู้คนใจสามารถจองใช้บริการห้องศึกษาข้อมูลที่ชั้น 22 กรมเชื้อเพื่อเพลิงธรรมชาติ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 (ตามวันและเวลาราชการ) ผ่านทางอีเมล : dataroom@dmf.go.th นอกจากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้บริการจำหน่ายข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาศักยภาพปิโตรเสียมในการกำหนดโครงการการสำรวจปิโตรเลียม และจัดทำรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาจากนั้นจะเปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยื่นซองคำขอและข้อเสนอระหว่างวันที่ 1 16 กรกฎาคม 2568 ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณาคำขอสิทธิฯ จะผ่านการพิจารณา กลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการปิโตรเลียม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามลำดับ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งหลังจากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะประกาศผลผู้ที่ได้รับสิทธิฯ และดำเนินการเกี่ยวกับการลงนามสัมปทานต่อไป. -517-สำนักข่าวไทย