กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – กรมเชื้อเพลิงฯ ยืนยันบริหารแหล่งก๊าซฯ ทดแทนเอราวัณที่ไม่ได้ตามแผน ดึงต้นทุนค่าไฟให้ต่ำ พร้อมประสานทุกฝ่ายเร่งพัฒนาพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ตามนโยบายรัฐบาล คาดใช้เวลาขั้นต่ำ 10 ปี
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ ได้ประสานทุกฝ่าย เพื่อเร่งกำลังผลิตทดแทนแหล่งเอราวัณ หรือ G1/61 ที่เดิมคาดว่า วันที่ 1 ธ.ค.66 กำลังผลิตจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันนี้ผลิตได้ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ล่าสุดของผู้ดำเนินการผลิต คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเครนของเรือ K1 ที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตแปลงสำรวจเกิดร้าวเสียหาย ต้องเปลี่ยนเรือใหม่ ทำให้การผลิตล่าช้าไปอย่างน้อย 2 เดือน แต่บริษัทให้ความมั่นใจว่าจะเพิ่มกำลังผลิตให้เป็นไปตามสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เม.ย.67
ดังนั้น กรมฯ จึงเร่งประสานงานกับทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหา โดย ปตท.สผ.ได้เพิ่มกำลังผลิตในแหล่งจี 2/61 หรือบงกช อย่างต่อเนื่องอีก 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่มีสัญญาผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่มีการหรี่หรือปรับลดกำลังผลิตแหล่งอาทิตย์ โดยผลิตเพิ่มอีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีการประสานงานแหล่งยาดานา จากเมียนมา ขอความร่วมมือให้คงกำลังผลิตที่ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้นานที่สุด และประสานมาเลเซียขอให้ก๊าซจากแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วม เจดีเอ มาใช้ในไทย ในกรณีที่มาเลเซียไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ภาพรวมในขณะนี้บริหารจัดการแหล่งก๊าซฯ ทางท่อ ทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งจะช่วยทำให้ไม่เพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า
ส่วนที่รัฐบาลจะเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ทางกรมฯ พร้อมร่วมประสานงานในขั้นตอนดำเนินการ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะต้องมีการออกกฎหมายขึ้นมาดำเนินการ คาดรวมๆ แล้ว หากจะผลิตก๊าซฯ ขึ้นมาได้จะใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งหากได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งสองประเทศ ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากแหล่งปิโตรเลียม การใช้ก๊าซฯ นำมาผลิตไฟฟ้า ลดค่าครองชีพประชาชน โดยปัจจุบันนี้แหล่งอ่าวไทยมีปริมาณก๊าซลดน้อยลง จากเดิมไทยผลิตได้ร้อยละ 70 ในขณะนี้เหลือร้อยละ 50 ขอความต้องการใช้ต้องพึ่งพาการนำเข้าแอลเอ็นจี หรือก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีราคาสูงกว่า ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยแพงขึ้น
“ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาแหล่งเอราวัณให้ได้มากที่สุด เพื่อพยายามไม่ให้กระทบค่าไฟ โดยแหล่งเอราวัณจะต้องเร่งติดตั้งแท่นหลุมเพิ่มอีก 4 หลุม จากติดตั้งแล้ว 8 แท่น ขณะนี้มีการเจาะหลุมผลิตแล้วเสร็จถึง 218 หลุม แท่นขุดเจาะ 6 แท่น ซึ่งหากทุกอย่างไม่เกิดปัญหา ไม่ว่าจะคลื่นลมแรง เรือติดตั้งได้ตามคาด ก็คงดีเลย์ 2 เดือน แต่หากผิดคาด ก็จะผลิตได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เม.ย.67 แต่หากยังไม่ได้อีกก็จะผิดสัญญา ก็จะมีบทปรับต่อ ปตท.สผ.” นายศุภลักษณ์ กล่าว
ส่วนแหล่งไพลินใกล้หมดสัญญา ในขณะนี้กรมฯ พยายามคุยกับเชฟรอนฯ ที่เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ. – สำนักข่าวไทย