กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติแจ้งว่า บางพื้นที่ได้ทยอยปรับขึ้นราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. รวม 2 ครั้ง เหตุราคาที่เกษตรกรขายได้ยังต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยง ย้ำถึงความจำเป็น เหตุการขาดทุนของเกษตรกร จะเป็นการสร้างหนี้สินภาคเกษตรกรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินภาคครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นของสังคมทั้งระบบ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มว่า บางพื้นที่ได้ปรับราคาจำหน่ายขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 จากที่ปรับครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำต่อเนื่องและต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยราคาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม อยู่ระหว่าง 76-88 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ราคาต่ำสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และสูงสุดยังทรงตัวที่ 88 บาทต่อกิโลกรัม โดยเป็นผลจากการประชุมร่วมของผู้เลี้ยงสุกรแต่ละภูมิภาค ที่เห็นว่าราคาหน้าฟาร์มยังคงต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยของไตรมาส 1/2566 ที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบกับทุกภูมิภาคมีผลผลิตสุกรลดลงทั้งปริมาณและน้ำหนักสุกรขุนรอการจำหน่าย จึงมีมติปรับฐานราคาหน้าฟาร์มจากการจำหน่ายจริงระหว่างสัปดาห์บวก 4 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อลดความเสียหายให้เกษตรกร
อีก 7 วันต่อมาคือ วันที่ 21 มีนาคม ได้ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้จากราคาระหว่าง 80-88 บาทต่อกิโลกรัม บางพื้นที่ได้ปรับราคาต่ำสุดเป็น 84 บาท หรือปรับขึ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาสูงสุดยังทรงตัวที่ 88 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาตามรายภาคปัจจุบันมีดังนี้
– ภาคตะวันตก 84 บาทต่อกิโลกรัม
– ภาคตะวันออก 86 บาทต่อกิโลกรัม
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 86-88 บาทต่อกิโลกรัม
– ภาคเหนือ 88 บาทต่อกิโลกรัม
– ภาคใต้ 86 บาทต่อกิโลกรัม
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยังระบุว่า ปัจจุบันราคาเนื้อหมู ไก่เนื้อ และไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้จริง ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตแทบทั้งสิ้น เนื่องจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงเกินจริง โดยเฉพาะราคาข้าวโพดหน้าโรงงานอาหารสัตว์เมื่อเทียบกับราคาตลาดโลกและราคาที่เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดไทยขายได้
พร้อมกันนี้ยังระบุว่า อุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบยังคงรอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมหารือตลอดห่วงโซ่ใน เพื่อใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้าแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จะเป็นการสร้างหนี้สินภาคเกษตรกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินภาคครัวเรือนซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น แล้วในที่สุดจะไปลดกำลังซื้อของประชาชนที่จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย