นครราชสีมา 6 พ.ย.-ร่วมส่งครั้งสุดท้าย พิธีพระราชทานเพลิงศพ “สรพงศ์ ชาตรี” พระเอกตลอดกาล ด้านภรรยายืนยันขอสานต่อปณิธานดูแลมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
ที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พระธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง ได้เป็นประธานนำคณะสงฆ์ 10 รูปสวดบังสุกุล ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือ สรพงศ์ ชาตรี ศิลปินแห่งชาติ พระเอกระดับตำนานของไทย ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม และนางดวงเดือน จิไธสงค์ ภรรยา พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้นำร่างมาเก็บไว้ที่วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พุทธสถานที่ “สรพงศ์” ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจ สร้างขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยความศรัทธาในองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และถวายเป็นพุทธบูชา ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวของจังหวัด และนักท่องเที่ยวเรียกสถานที่แห่งนี้จนติดปากว่า “วัดสรพงศ์”
ขณะที่ดวงเดือน จิไธสงค์ ภรรยาของ “สรพงศ์” ยืนยันว่าวันนี้ได้เตรียมพิธีพระราชทานเพลิงศพให้ดีที่สุดเพื่อส่ง “สรพงศ์” เป็นครั้งสุดท้าย พร้อมย้ำจะสานต่อปณิธานของสรพงศ์ดูแลมูลนิธิสมเด็จพุฒาจารย์โตฯ ยอมรับแม้วันนี้ “สรพงศ์” จะจากไป ส่วนตัวยังรู้สึกว่าเขายังอยู่ด้วยเสมอ เพียงแต่วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องส่งร่างคืนสู่ธรรมชาติ
ส่วนพิธีการหลังเสร็จสิ้นการสวดบังสุกุล เจ้าหน้าที่ได้เชิญหีบศพเวียนเมรุชั่วคราว แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาธาน และเมื่อเวลา 18.00 น. ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้ให้ประชาชน และบุคคลที่เคารพรักต่อสรพงศ์ ในการเดินทางมาร่วมงานได้เฝ้าฯ รับเสด็จด้วย
สรพงศ์ ชาตรี มีชื่อจริงว่า พิทยา เทียมเศวต ภายหลังเปลี่ยนเป็นกรีพงศ์ เทียมเศวต เป็นนักแสดงเจ้าบทบาทที่ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี 2551 ชื่อ สรพงศ์ ชาตรี ที่ใช้ในการแสดง ผู้ตั้งให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า “สร” มาจาก อนุสรมงคลการ, “พงศ์” มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ “ชาตรี” มาจาก ชาตรีเฉลิม
ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก “สรพงศ์” เป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง สอยดาว สาวเดือน เมื่อปี 2512 และบทพระเอกครั้งแรกของ “สรพงศ์” คือ ภาพยนตร์เรื่อง มันมากับความมืด ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม จากนั้นได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง ได้รางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกจากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และ สัตว์มนุษย์ สองปีติดต่อกัน แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จสูงสุด คือ แผลเก่า
นอกจากผลงานการแสดง “สรพงศ์” ยังเคยบันทึกเสียงเป็นนักร้อง มีอัลบั้มถึง 5 ชุด โดยมีเพลงที่คนคุ้นหูคือเพลง หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก ส่วนรางวัลที่ได้รับมีทั้งรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี รางวัลสุพรรณหงส์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในหลายโอกาสด้วย.-สำนักข่าวไทย