16 มี.ค. – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง คุณหญิง เมตตจิตต์ นวจินดา ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้
วันนี้ (16 มี.ค.68) เวลา 17 นาฬิกา 37 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในการพระราชทานเพลิงศพ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง คุณหญิง เมตตจิตต์ นวจินดา ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 สิริอายุ 77 ปี



ในการนี้ เสด็จขึ้นพลับพลาอิศริยาภรณ์ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายชวลิต เหลือธรรมะ ผู้เป็นทายาท เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานผ้าไตรเชิญไปทอดถวายพระสงฆ์บังสุกุลรอบโกศศพ เมื่อพระสงฆ์บังสุกลลงจากเมรุแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นเมรุ ทรงหยิบกระทงข้าวตอกดอกไม้จากเจ้าพนักงานพระราชพิธีวางข้างโกศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหยิบธูปเทียนดอกไม้จันทน์ของส่วนพระองค์ และของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี ทรงจุดไฟจากโคมที่ตำรวจวังเชิญถวาย พระราชทานเพลิง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงหยิบธูปเทียนดอกไม้จันทน์จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี ทรงจุดไฟจากโคมที่ตำรวจวังเชิญถวาย พระราชทานเพลิง

รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง คุณหญิง เมตตจิตต์ นวจินดา เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2490 เป็นบุตรของ นายเตียบ กับ นางประไพพรรณ นวจินดา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก แขนงวิชาวิทยาเอ็นโดดอนต์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐอเมริกา เข้ารับราชการ ปี 2517 เป็นอาจารย์ ระดับ 4 ประจำภาควิชาการทันตกรรมหัตถการ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็น รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นทันตแพทย์ประจำพระองค์ รับใช้เบื้องพระยุคลบาท ระหว่างปี 2546 ถึง 2548 ตลอดชีวิตการทำงานได้สร้างผลงานวิจัยและเผยแพร่ในวิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ไว้มากมาย เช่น โครงการวิจัยแคลเซียมไฮดรอกไซด์ในการรักษาคลองรากฟัน ปี 2529 โครงการวิจัยความโค้งของรากด้านเพดานของฟันกรามแท้(บน)ในคนไทย ปี 2539 และโครงการวิจัยโรคลมพิษเรื้อรังเนื่องจากการอุดคลองรากฟันด้วยแท่งเงิน ปี 2553 นอกจากนี้ มีงานบริการวิชาการ เช่น การตีพิมพ์ คู่มือปฏิบัติการสาขาเอ็นโดดอนต์ เป็นคู่มือเฉพาะทางที่ดูแลการรักษารากฟัน อีกทั้งเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาโท วิทยาเอ็นโดดอนต์ ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 และได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน
ต่อมา เวลา 18.21 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง ตามลำดับดังนี้
- นายฮัน แจ ซง (Mr. Han Jae Song) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย
ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย นายฮัน แจ ซง เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมกิจการภายนอก กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี มาก่อน
- นายเอลชิน รากุบ โอกลู บาชีรอฟ (Mr. Elchin Ragub oglu Bashirov) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานประจำประเทศไทย
ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานประจำประเทศไทย นายเอลชิน รากุบ โอกลู บาชีรอฟ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอเมริกาและแคนาดา กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มาก่อน
- นายอับเดลฮะฟีซ บูนูร (Mr. Abdelhafid Bounour) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรียประจำประเทศไทย
ในการมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรียประจำประเทศไทย นายอับเดลฮะฟีซ บูนูร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรียประจำมาเลเซียด้วย
- นายฟรังซิชกู ติลมัง ซือเปดา (Mr. Francisco Tilman Cepeda) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทย
ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทย นายฟรังซิชกู ติลมัง ซือเปดา เคยดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต มาก่อน
- นายฟุอาด เตาฟีก (Mr. Fuwad Thowfeek) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย
ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย นายฟุอาด เตาฟีก เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ สมัยที่ 2 มาก่อน
- นายเอวาโกรัส วรีโอนีเดส (Mr. Evagoras Vryonides) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐไซปรัสประจำประเทศไทย
ในการมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐไซปรัสประจำประเทศไทย นายเอวาโกรัส วรีโอนีเดส ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไซปรัสประจำสาธารณรัฐอินเดียด้วย.-211-สำนักข่าวไทย





