สธ. 14 ก.ย. – จิตแพทย์แนะอย่าตีตราคนมีสีก่อเหตุรุนแรง ระบุเป็นโอกาสในการควบคุมการใช้อาวุธ แจงสถิติก่อเหตุรุนแรง ส่วนใหญ่ 95% เป็นคนมีความเครียด มีแค่ 4% ที่ป่วยทางจิต
นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุทหารกราดยิงเพื่อนร่วมงาน ในพื้นที่วิทยาลัยกองทัพบก ถ.เทอดดำริ เขตดุสิต กทม. ว่าจากสถิติการเหตุความรุนแรงทั่วโลก มักพบว่า 4% เป็นผู้ป่วยที่อาการทางจิต และ 95% เป็นคนปกติที่มีความเครียด โดยจุดเริ่มต้นของความรุนแรงมักมาจากทางวาจา, จากนั้นตามมาด้วยความรุนแรงทางกาย ชกต่อย และหากมีอาวุธก็จะจบที่ปืน ส่วนในกรณีของผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่มักเป็นบุคคลในเครื่องแบบไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือตำรวจนั้น ไม่อยากให้มีการบลูลี่ตีตรา เพียงแต่คนเหล่านี้ง่ายแก่การก่อเหตุ เนื่องจากเข้าถึงหรือมีอาวุธปืน ทำให้ต้องมีการควบคุม และอยากมองให้เรื่องนี้เป็นโอกาสที่จะแก้ไขในการควบคุมอาวุธปืน ทั้งนี้องค์การทั่วโลกให้ความเห็นตรงกันในเรื่องการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในลักษณะนี้ คือ 1.ในองค์กรใช้อำนาจไม่ถูกต้องให้น้อยสุด 2.ทำให้ระบบคนมีปัญหาสามารถรับปรึกษาได้จากผู้บัญชา และ 3. ควบคุมอาวุธปืนไม่ให้ตกอยู่ในคนเปราะบาง เหมือนเช่นในภาพยนตร์ที่มีการควบคุมอาวุธปืนในตำรวจที่มีปัญหาสุขภาพจิต
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีปัญหาพบคนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น 20% และมีการฆ่าตัวตาย ซึมเศร้าเพิ่มขึ้น มาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และพบการก่อเหตุรุนแรงทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงท้องถนน ดังนั้นทางกรมสุขภาพจิตจึงสนับสนุนให้หน่วยงาน มีการใช้โปรแกรมมาตรฐาน เป็นกลไกพัฒนาตัวบุคคล และโปรแกรมวิสัยทัศน์ เพื่อลดความเครียดในองค์กร โดยมุ่งเน้นการปรับความคิดจัดการความเครียด และให้เกิดกลไกในองค์กรที่หัวหน้าสามารถรับฟังลูกน้องได้. -สำนักข่าวไทย