กรุงเทพฯ 29 ส.ค.- อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาแจงปรากฏการณ์ท้องฟ้ากรุงเทพมหานครมืดครึ้มช่วงเช้าที่ผ่านมา เหตุลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรง พัดมาปะทะกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้เกิดเมฆฝนที่ยกตัวในระดับต่ำ แต่เนื่องจากลมีกำลังแรงจึงเคลื่อนตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ฝนจึงตกในกรุงเทพมหานครในระยะสั้น ๆ
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวถึงปรากฏการณ์ “ฟ้ามืด” ช่วงเวลา 07.00 น. บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า เกิดจากการปะทะกันของลมที่เคลื่อนตัวมาจาก 2 ทิศทาง โดยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันซึ่งเป็นลมประจำฤดูที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้จากทางทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกพัดเข้ามาปกคลุม โดยนำมวลอากาศเย็นและความชื้นเข้ามา โดยเคลื่อนตัวจากฝั่งตะวันออกไปทางตะวันตก ผ่านจ. ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก จนกระทั่งถึงฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ทางทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร กลุ่มเมฆฝนจึงก่อตัวและเคลื่อนเข้าปกคลุมกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเป็นกลุ่มเมฆฝนที่มีขนาดใหญ่และหนา แสงอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้เห็นกลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำและบรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน ตลอดจนปริมาณไอน้ำในก้อนเมฆมีมากทำให้มีน้ำหนักมาก ฐานเมฆจึงอยู่ในระดับต่ำ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวย้ำว่า ปรากฏการณ์เมฆดำทะมึนที่ทำให้ฝนตกช่วงเช้าที่ผ่านมา ไม่ใช่เหตุผิดปกติ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดช่วงเย็นหลังเลิกงานหรือช่วงค่ำซึ่งหลายๆ คนมักเรียกว่า “ฝนเลิกงาน” แต่วันนี้เกิดขึ้นในเวลาเช้าช่วงที่กำลังจะออกไปทำงาน เมื่อท้องฟ้ามืดอย่างรวดเร็วจึงประหลาดใจ
จากปัจจัยที่ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดเข้ามามีกำลังแรง กลุ่มเมฆฝนจึงเคลื่อนผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างรวดเร็ว ฝนตกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นท้องฟ้าเริ่มกลับมาสว่าง กรมอุตุนิยมวิทยาตรวจสอบจากภาพเรดาร์ เวลา 12.00 น. พบว่า กลุ่มฝนเคลื่อนตัวไปปกคลุมฝั่งตะวันตกของประเทศที่จ. นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์แล้วจึงสลายไป
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยายังอธิบายลักษณะเม็ดฝนที่ตกลงมาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อเช้าว่า เป็นฝนเม็ดใหญ่จากเมฆฝนฟ้าคะนองซึ่งเรียกว่า “คิวมูโลนิมบัส” (cumulonimbus : cb) เป็นชื่อเรียกจากภาษาละติน คำว่า cumulus หมายถึง “กองของและสิ่งของ” และ nimbus หมายถึง “พายุฝนและเมฆพายุ” โดยเมฆคิวมูโลนิมบัสมีลักษณะหนาสูงทึบในแนวตั้ง มีความสัมพันธ์กับพายุฟ้าคะนอง และอากาศที่มีลักษณะแปรปรวน ก่อตัวขึ้นจากไอน้ำซึ่งได้รับการนำพาพัดขึ้นด้านบนด้วยกระแสลมแรง สามารถพบได้ในแบบเดี่ยว รวมเป็นกลุ่ม หรือตามแนวปะทะอากาศเย็น สามารถทำให้เกิดฟ้าผ่า หรือสภาพอากาศที่รุนแรงได้เช่น ทำให้เกิดพายุทอร์นาโด
สำหรับปฏิกิริยาของเมฆฝนฟ้าคะนองเมื่อเช้านี้ที่ลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรงทำให้เกิดแนวโค้งเรียกว่า เมฆอาร์คัส (Arcus) ซึ่งโค้งเหมือนกันชนหน้ารถทำให้ได้ชื่อภาษาไทยว่า “เมฆกันชน” นอกจากนี้ยังอาจม้วนแบบหลอดและแบบชั้น โดยเมฆอาร์คัสที่เป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนองสามารถแผ่ออกมาไกลจากตัวเมฆและมองเห็นได้ในหลายพื้นที่และหลายกิโลเมตร.-สำนักข่าวไทย