กรุงเทพฯ 8 เม.ย.–ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท.
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ประเมินว่า ปตท.สผ.และมองว่าบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
หรือ ปตท. สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช ณ ปัจจุบัน น่าจะมีความได้เปรียบในการประมูล
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ
(International Long-Term
Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ
(International Long-Term Local-Currency
Issuer Default Rating) ของบมจ.ปตท. . ที่ระดับ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
(National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
การคงอันดับเครดิตและอันดับเครดิตโดยลำพัง
(Standalone Rating) ของ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’
สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ
แม้ว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่ อัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ ที่ต่ำ น่าจะช่วยรองรับการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
และการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง โดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงจนกระทบอันดับเครดิต ปัจจุบันอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังคงเผชิญความท้าทายอยู่:
ฟิทช์คาดว่าสถานะของปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม
‘BBB’
โดยปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (proved reserves) ของบริษัทฯ ยังคงลดลงในปี
2559 แม้ว่าบริษัทฯ จะมีปริมาณทรัพยากร
(contingent resources) อยู่เป็นจำนวนมากที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นปริมาณสำรองได้ในอนาคตด้วยการลงทุนที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตามสถานะของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจากแหล่งที่มีอยู่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ในระยะเวลา2-3ปีข้างหน้า นอกจากนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ
มีแนวโน้มที่ลดลงในปี 2560-2563 นอกเสียจากจะมีการเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการแหล่งผลิตใหม่ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมน่าจะเริ่มทรงตัวและปรับตัวดีขึ้นในปี
2560-2561 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อตลาดเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ
ความเสี่ยงจากการต่ออายุสัมปทานแหล่งบงกช
ปตท. เผชิญกับความเสี่ยงจากการที่สัมปทานแหล่งบงกชจะหมดอายุในปี
2565-2566 ซึ่งถ้าบริษัทฯ เสียการถือครองแหล่งนี้ไป
น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ ทั้งทางด้านปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยในปี 2559 บริษัทมีปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชคิดเป็นร้อยละ 24 ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สถานะทางธุรกิจของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ
อ่อนแอลงไปอีกได้ นอกจากนี้บริษัทฯ อาจจะต้องมีการจ่ายเงินในจำนวนที่สูงเพื่อต่ออายุสัมปทาน
เนื่องจากมูลค่าของแหล่งนี้น่าจะสูง ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นแหล่งที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว
ในขณะที่ราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
ฟิทช์มองว่า พรบ. ปิโตรเลียม ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งผ่านร่างฯ มีการกำหนดรูปแบบการต่ออายุสัมปทานและการให้สัมปทานแหล่งใหม่เพิ่มขึ้น
ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมปทานจากระบบการให้สัมปทานแบบปัจจุบัน โดยกระทรวงพลังงานกล่าวว่าน่าจะมีการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอประมูลแหล่งบงกชได้ในเดือนกรกฎาคม
2560 และคาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะได้ในเดือนธันวาคม 2560
“ ฟิทช์มองว่าบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช ณ ปัจจุบัน น่าจะมีความได้เปรียบในการประมูล
แม้ว่าจะไม่เป็นการรับประกันว่าบริษัทจะได้ต่ออายุสัมปทานก็ตาม”
อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำรองรับการลงทุน
อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน
(FFO adjusted net leverage) ของปตท. ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.1 เท่าในปี 2559 จาก 1.8 เท่าในปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่าที่คาด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจขั้นปลายที่แข็งแกร่ง
รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ลดลง
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวน่าจะคงอยู่ที่ระดับนี้ในปี 2560-2561 แม้ว่า บริษัทฯ จะมีการเพิ่มการลงทุนก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่ต่ำ ณ ปัจจุบัน
จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการลงทุนรวมถึงการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงเกินระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิตปัจจุบัน
ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
น่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปี 2560 หลังจากที่มีการปรับลดลงในช่วงปี 2558-2559 การฟื้นตัวของราคาน้ำมันน่าจะทำให้บริษัทฯ
เพิ่มการลงทุนในปี 2560-2561 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะยังคงระมัดระวังในเรื่องการลงทุน
โดยแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2560-2564) ของ ปตท. สผ. ยังคงต่ำกว่าแผนการลงทุน
5 ปี (2559-2563) ในปีก่อนหน้า
ความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร และความมีเสถียรภาพจากการที่ ปตท. มีขนาดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่มีขนาดใหญ่และมั่นคง
ธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี
2557
ทั้งนี้ สมมุติฐานราคาน้ำมันของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ คือราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์)
ที่ราคา 52.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560,
55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2561, 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี
2562 และ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563 เป็นต้นไป;
–สำนักข่าวไทย