สนามบินอู่ตะเภา 5 เม.ย. – คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ครศ.) เตรียมพิจารณาแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกาศสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม ครศ. เตรียมพิจารณาแผนพัฒนาอีอีซี โดยเฉพาะเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อประกาศพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City )ในพื้นที่ 6,500ไร่ มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค ผ่านการตั้งโรงเรียนการบิน ศูนย์ซ่อม โลจิสติกส์ โดยกองทัพเรือจะเป็นหน่วยงานหลัก กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เพื่อประกาศ TOR ให้เอกชนมาลงทุนกลางปีนี้และเปิดประมูลให้ได้ปีนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมืองกับสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1. ทางวิ่ง 2 ทางวิ่งมาตรฐาน 2. กลุ่มกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้าเพื่อรองรับผู้โดยสาร 15-30—60 ล้านคน ระยะเวลา 5-10-15 ปีตามลำดับ, กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานลักษณะเขตการค้าเสรีเพื่อประกอบอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อมโยง, กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ, กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน, กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากรธุรกิจการบิน และในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มอีก 3 กิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน อุตสาหกรรเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ ครศ. กล่าวว่า ยังเตรียมพัฒนาดิจิตอลปาร์ก (EECd) ด้วยพื้นที่ 621 ไร่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หวังให้เป็นส่วนหนึ่งของ EEC วงเงินลงทุน 68,000 ล้านบาท โดยภาครัฐลงทุนสัดส่วนร้อยละ 20 หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เอกชนลงทุนสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิทัลภาพรวม การส่งเสริมพัฒนารถไฟฟ้า (EV) เพื่อให้อีก 5 ปี อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งเดียวกับเศรษฐกิจดิจิทัล
ที่ประชุม ครศ. ยังเตรียมพิจารณาการผลักดันการสร้างพื้นที่นวัตกรรม (Area of Innovation) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) โดยส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในพื้นที่จะต้องมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชน
เมื่อรัฐบาลรัฐบาลออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อใช้สนับสนุนการลงทุนเอกชน 1.พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (เดิม 8 ปี) สามารถซื้อที่ดินได้หากได้รับการส่งเสริม อนุมัติการทำงานได้ 4 ปี 2.พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี (จากบีโอไอ 13 ปี) มีเงินกองทุนเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ เงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒน คาดว่าภายใน 5 ปี (2560-2565) เมื่อ EEC เริ่มลงทุนจะมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่ 100,000 อัตรา/ปี สร้างฐานภาษีใหม่ 100,000 ล้านบาท/ปี ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ 400,000 ล้านบาท/ปี.-สำนักข่าวไทย