ตรัง 28 มี.ค.- ทช.บินสำรวจทะเลตรังพบประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี เป็นผลจากความร่วมมือหลายฝ่ายวางแผนอนุรักษ์ หลังเกิดวิกฤติการอยู่รอดเมื่อ 4-5 ปีก่อนพบซากพะยูนถึง 11 ตัว ระบุสาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการหัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ และนักบินชาวต่างชาติ ร่วมบินสำรวจสถานการณ์พะยูนรอบเกาะลิบง เกาะมุกด์ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญที่สุดในทะเลตรัง เพื่อติดตามประชากรพะยูนในแต่ละปี รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารและหญ้าทะเล เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ จึงต้องวางแผนคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลให้เกิดความยั่งยืน และการบินสำรวจครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) นำหุ่นยนต์สำรวจทางอากาศ (โดรน) เพื่อถ่ายภาพเก็บข้อมูลทางวิชาการ
ด้านอาจารย์กฤษนัยน์ เจริญจิตะ อาจารย์ประจำคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้เป็นไปตามโครงการ “การสำรวจพะยูน โดยประยุกต์หุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก (Drone)” โดยเครื่องบินเล็กของ ทช. จะบินนำร่องปูพรมหาพะยูนในทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาศัยหากินที่ระดับความสูงประมาณ 100 เมตร เมื่อพบพะยูนบริเวณใดจะส่งข้อมูลพิกัดแหล่งที่พบ จากนั้นก็จะส่งโดรนเข้าไปถ่ายเก็บภาพ เพื่อเก็บข้อมูลสำรวจระยะไกล และเป็นการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือสำรวจระยะไกลด้วย และตั้งแต่ดำเนินการมาเครื่องบินสามารถบินสำรวจพบพะยูนกลุ่มใหญ่อาศัยรวมกันมากกว่า 30 ตัว
นายก้องเกียรติ กล่าวว่า ได้บินสำรวจประชากรพะยูนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ปีนี้ก็เช่นกันมีอาสาสมัครทั้งชาวอังกฤษและอเมริกันมาช่วยทำงาน โดยระยะ 3 ปีที่ผ่านมาพบประชากรพะยูนเพิ่มขึ้น เทียบกับ 4–5 ปีก่อนหน้าเป็นช่วงวิกฤติของพะยูน เพราะพบซากพะยูนเกยตื้นตายมากถึง 11 ตัว จากนั้นทุกฝ่ายจึงร่วมมือกันวางแผนอนุรักษ์อย่างเต็มที่ ทำให้สถิติการตายของพะยูนลดลง และผลการผ่าพิสูจน์พบว่าส่วนใหญ่เป็นการตายไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากการกิจกรรมของมนุษย์ เช่น เครื่องมือประมงที่เป็นอันตราย.-สำนักข่าวไทย