เมืองทองธานี 22 มี.ค.-ประเทศไทย ชูศาสตร์พระราชาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบการจัดการน้ำเสียอย่างเห็นผลได้ชัดเจนและยั่งยืน หลังองค์การสหประชาชาติ(UN) เน้นปัญหาน้ำเสียทั่วโลกกระทบระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดงานสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และวันน้ำโลก ประจำปี2560 และเปิดนิทรรศการแนวคิดบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามรอย”ศาสตร์พระราชา”
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) เห็นถึงปัญหาขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จนอาจก่อให้เกิดการแย่งชิงน้ำขึ้นในอนาคต จึงประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” (World Day for Water) เพื่อให้ทุกทั่วโลกเห็นความสำคัญของน้ำที่เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติเรื่องการอนุรักษ์น้ำ
โดยในปีนี้ 2017 องค์การสหประชาชาติ(UN) กำหนดคำขวัญวันน้ำโลกว่า “น้ำเสีย” หรือ Waste Water เพราะน้ำเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต โดยเฉพาะการลดปริมาณน้ำเสียลง
ทั้งนี้ ประเทศไทย จัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลกปีนี้ ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชากับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” เพื่อเทิดพระเกียรติและร่วมน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” ที่พระราชทานโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้พสกนิกรชาวไทยจนเป็นที่ยอมรับของทั้งในประเทศและทั่วโลก และร่วมรณรงค์คนไทยร่วมใจ ลดมลพิษ ลดน้ำเสียที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน แต่สามารถจัดการบำบัดได้เพียงร้อยละ15 เท่านั้น
รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของการจัดการน้ำในทุกด้าน ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ปัญหา พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำมาวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาและเดินหน้าพัฒนางานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ อาทิ การจัดการน้ำเสียด้วยเครื่องกลเติมอากาศในน้ำ หรือกังหันน้ำขัยพัฒนา,แนวทางบำบัดน้ำเสียด้วยระบบธรรมชาติ เป็นต้น และเร่งปรับโครงสร้างระบบราชการหน่วยงานด้านน้ำ รวมทั้งออกกฎหมายรองรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย