ชัวร์ก่อนแชร์ : แฉเว็บปลอม ตอนที่ 3 ขบวนการขายความเท็จ

ชัวร์ก่อนแชร์ : แฉเว็บปลอม ตอนที่ 3 ขบวนการขายความเท็จ

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย 24 ก.ค. – บทสรุปสุดท้ายของการแกะรอยตรวจสอบขบวนการ “เว็บปลอม” “ข่าวเท็จ” กลวิธีล้ำ-ทำรายได้เพียงใด


.

แม้การแกะรอยจากหน้าเว็บ อาจจะพบทางตัน ตามที่ผู้สร้างเว็บเชื่อว่าจะปกปิดตัวตนได้ แต่เรายังเหลือพื้นที่อื่น ที่น่าสนใจยิ่งนัก…


[ ดูบัญชีรายชื่อ เว็บปลอม กว่า 30 รายการ ได้ด้านล่าง ]

อ่าน “แฉเว็บปลอม” ตอนที่ 1 กับดักโซเชียล (พร้อม 60 หัวข้อข่าวปลอม)

อ่าน “แฉเว็บปลอม” ตอนที่ 2 : ผ่าเว็บปลอม


เว็บนอมินี

จากการเก็บข้อมูล ศึกษาหน้าเว็บข่าวปลอม มากกว่า 80 หน้า ผมพบว่าเว็บเหล่านี้ไม่ได้ทำงานอยู่โดดเดี่ยว หากแต่ทำหน้าที่เป็นแค่เหยื่อล่อแบบ “นอมินี” ให้ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง

ตามที่บอกไปแล้วว่า หน้าเว็บเหล่านี้เป็นหน้าเว็บโดด ๆ ไม่เชื่อมโยงกับใคร จะพอมีโฆษณาบ้างก็เล็กน้อย ดูแล้วเหมือนเป็น “ลิงก์ตาย”

แต่คุณลักษณะที่ดูเหมือนเป็นทางตันนี้ มันกลับช่วยอธิบายให้เราได้เห็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ชัดขึ้นไปอีก

ในเมื่อเป็นเว็บที่ไม่มีลิงก์มาจากไหน ดังนั้น ใครนำไปเผยแพร่เป็นคนแรก ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจต้องรู้เห็นกับการก่อเกิดของหน้าเว็บเหล่านี้

เมื่อใช้สมมติฐานนี้มาจับ เหมือนได้ลอยตัวขึ้นจากทางตันเล็ก ๆ ขึ้นมามองมุมสูง และเมื่อใช้เทคนิคการค้นหาย้อนกลับ

ทำให้พบสิ่งที่ไขปริศนาว่า “เขา” สร้างหน้าเว็บปลอมอันโดดเดี่ยวแบบนี้ขึ้นมาทำไม…

 

เครือข่ายเว็บปลอม

เว็บปลอมทำงานกันเป็นเครือข่าย เปรียบเหมือนโครงสร้างเซลล์ของไวรัสร้าย ที่มีชั้นใจกลางและพิษสงในชั้นนอก

เว็บปลอมที่สร้างขึ้นมาโดด ๆ เป็นใจกลาง ทำหน้าที่ปั้นข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นหน้าเว็บที่พร้อมพลีชีพ พร้อมให้โดนสั่งปิดได้เสมอ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย

เมื่อผู้สร้างทำเว็บปลอมเสร็จ ก็จะดำเนินการสร้างเว็บในวงที่ 2 เป็นเว็บบริวาร เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานกุข่าวโกหก ที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ

แฉ เว็บปลอม 3 : เครือข่ายเว็บปลอม

บริวารด่านแรก หน้าเฟซบุ๊กปลอม ตัวแพร่ข่าว

ผู้สร้างเว็บปลอมคนเดียวกันจะเข้าไปเปิด Facebook ปลอม ซึ่งพบทั้ง 1) แบบปลอมเป็นหน้าเพจดัง ๆ ให้สอดคล้องกับเว็บปลอมที่สร้างขึ้น กับ 2) ปลอมเป็นหน้าเฟซของบุคคล โดยเอารูปคนในต่างประเทศมาสร้างบัญชีลวง

เฟซปลอมแบบหน้าเพจ จะไปขโมยภาพหน้าปก ขโมยรูปโปรไฟล์ มาจากเว็บเป้าหมายของจริง ตั้งชื่อให้เหมือนกับของจริง เพื่อให้คนค้นหาแล้วพลัดหลงมาเจอ เขียนตรงพื้นที่ “เกี่ยวกับ” หลอกว่ามีผู้กดติดตามจำนวนมาก จากนั้นจะโพสต์ข่าวจริงพอเป็นพิธี 6-10 ข่าว ก่อนจะเอาข่าวปลอมมาวาง ซึ่งก็วางได้ 1-3 ข่าวเท่านั้น จากนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอีกเลย

เฟซปลอมแบบปลอมเป็นบุคคล ก็เช่นเดียวกัน มีการโพสต์รูปย้อนหลังให้ดูสมจริงเล็กน้อย ก่อนจะเอาข่าวปลอมมาโพสต์ เพื่อเป็นต้นทางปล่อยข่าวนั้นให้แพร่กระจายไปบนโซเชียลต่าง ๆ

และในกรณีล่าสุดยังพบว่า มีการสร้างเฟซปลอมของบุคคล เพื่อนำไปเป็นตัวละครกุเรื่องให้ข่าวปลอมดูน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นไปอีก เช่นกรณีข่าว “ยายวัย 93 ปี โดนทิ้ง นอนหนาว ไม่ได้กิน3วันติด อยากกลับบ้าน ช่วยกันแชร์” ในข่าวเขียนว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งแชร์ภาพนี้

ถ้าใครค้นชั้นเดียวก็ต้องเชื่อว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีตัวตนจริง แต่ถ้าค้นลึกลงไป จะพบว่าไปขโมยรูปภาพส่วนตัวคนอื่นจากต่างประเทศมากุเรื่อง

ดูเผิน ๆ ไม่น่าจะเป็นข่าวปลอม แต่ตรวจสอบแล้ว ก็เป็นข่าวปลอมจริง ๆ คนสร้างเว็บไม่ได้สงสารยาย แต่เอาภาพยายมาสร้างรายได้ให้ตัวเอง

เฟซปลอม ข่าวคุณยาย

บริวารด่านสอง บล็อกข่าวตีสองหน้า ตัวช่วยสร้างคะแนน

เว็บในกลุ่มที่สอง มักจะทำตัวเองเป็นเว็บรวมข่าวสารที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยข่าวแบบ “คลิกเบต” (Clickbait) พวกข่าวที่พาดหัวว่า “คุณอ่านแล้วจะต้องอึ้ง” “ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้แบบนี้” ฯลฯ

เวลาปกติ เว็บพวกนี้จะทำหน้าที่ขโมยหรือแปลข่าวสารที่น่าสนใจ มาพาดหัวใหม่ดึงดูดให้คนเข้ามาอ่าน หน้าเว็บจะเต็มไปด้วยโฆษณามากมาย แต่คนที่เข้ามาอ่านก็จะรู้อยู่แล้วว่าต้องเจออะไร แต่ก็ยังหลงเข้ามาอ่าน

ทำให้เว็บกลุ่มนี้จะมีชื่อเสียงดีระดับหนึ่ง และ เว็บก็มีคะแนนดีในสายตา Google ด้วย เพราะมีเนื้อหาที่ (Google มองว่า) มีคุณภาพ

เว็บกลุ่มนี้จะซุ่มทำตัวเป็นคนแชร์ข่าวทั่วไปในเวลาปกติ แต่พอเกิดข่าวปลอมขึ้น เว็บเหล่านี้จะรู้ก่อนใคร และนำมาตกแต่งจัดหน้าขึ้นเป็นหนึ่งในข่าวของตนเองทันที พร้อมส่งลิงก์ไปเสร็จสรรพ

แน่นอนว่ายิ่งช่วยเพิ่มอันดับให้เนื้อหาในหน้าข่าวปลอมที่เพิ่งสร้างขึ้นมาได้อย่างยอดเยี่ยม

บริวารด่านสาม บล็อกข่าวปลอม ตัวทำเงิน

เว็บในกลุ่มที่ 3 ดูจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่ 2 แต่ “หยาบ” กว่าในเชิงเนื้อหา หมายถึงไม่ค่อยใส่ใจกับการสร้างเนื้อหาที่น่าอ่านมากนัก เน้นไปในทางโฆษณาและข่าวปลอม

เว็บกลุ่มนี้มักจะสร้างด้วย Google Blogger.com บริการพื้นที่บล็อกฟรี ตั้งชื่อให้มีคำว่า “ข่าว” หรือ “khao” สารพัดแบรนด์ จากนั้นก็อัดแน่นด้วยโฆษณาของ Google เต็มไปหมด

เว็บกลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก จะทำหน้าที่แพร่กระจายข่าวปลอมต่าง ๆ แทนเว็บข่าวปลอมต้นฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ตาม ๆ กัน หรือรู้เห็นเป็นใจกับต้นฉบับ

เมื่อค้นหาข่าวปลอม เราจะมาพบเว็บเหล่านี้ก่อน เมื่อคลิกเข้าไปก็จะหนีไม่พ้นโฆษณาเต็ม ๆ แทบทุกอณู

 

เมื่อกลไกสองชั้นนี้ทำงาน ข่าวก็จะเริ่มแพร่กระจายไปบนโซเชียล บางเว็บหรือเพจใหญ่ ๆ ที่เน้นแต่หาเนื้อหาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็จะนำข่าวปลอมเหล่านี้ไปช่วยแชร์ ขณะที่บุคคลทั่วไปก็จะตกเป็นทั้งเหยื่อและเครื่องมือในการแชร์ต่อไม่รู้จบ

 

แกะรอยรายได้

จากผังโครงสร้างเครือข่ายเว็บปลอม เส้นทางรายได้ที่หลั่งไหลเข้าสู่กระเป๋าคนจัดทำเว็บปลอมเหล่านี้ มีลำดับขั้นตอนดังนี้

เมื่อมีคนคลิกเข้าสู่หน้าเว็บปลอม กลไกโฆษณาจะทำงาน เสมือนว่าเกิดการคลิกเข้าโฆษณาหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งคนที่อยู่เบื้องหลังจะได้ค่าโฆษณาจากจำนวนหน้าที่เปิด

เมื่อตรวจสอบข้อมูลคาดการณ์สถิติ เว็บเหล่านี้อาจจะมีคนหลงเข้าไปมากถึง 5,000 ครั้งต่อวัน หรือถ้าเป็นข่าวที่สร้างความแตกตื่นมาก ๆ อาจจะถึงหลักแสนครั้งต่อวัน

หากเอเยนต์จ่าย 1 เหรียญสหรัฐต่อ CPM (1,000 ครั้งที่โฆษณาถูกเปิด) คำนวณแล้วอาจจะทำเงินให้เขาได้ไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ หรือ 3,500 บาท-ต่อวัน-ต่อเว็บ!

คำนวณกันเล่น ๆ ถ้ากระแสเว็บข่าวปลอมนั้น แชร์กันแรงประมาณ 2-3 วัน การลงทุนสร้างข่าวปลอมครั้งหนึ่ง จะทำเงินก้อนแรกให้เขาในหลักหมื่น ก่อนที่จะความแตก คนรู้ความจริง และกระแสจะซาลง

นอกจากรายได้จากเว็บปลอมหลัก ๆ แล้ว เว็บบริวารที่ติดโฆษณาทั้งหลายก็ยังมีรายได้จากคลิกโฆษณาอีก ขณะที่เงินบางส่วนก็กระจายไปสู่เว็บของพี่น้องผองเพื่อนที่ร่วมเกาะกระแสไปด้วย

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีข่าวปลอมราว 100 ข่าว ลองคิดดูแล้วกันว่า หากแต่ละครั้งที่มีข่าวปลอมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ทำเงินให้ผู้สร้างอย่างน้อยในหลักหมื่นบาทอย่างที่บอก เมื่อบวกคูณกัน เขาจะกอบโกยไปแล้วเท่าไหร่ ?

 

ข่าวเท็จเว็บปลอม วิทยาการล้ำ คุณธรรมด้อย

การสร้างเป็นเครือข่ายร่วมแชร์ข่าวเท็จเช่นนี้ อาจดูเผิน ๆ ไม่มีอะไร แต่ที่จริงแล้วเป็นการใช้หลักทำการตลาดบน Google ที่เรียกว่า SEO (Search Engine Optimization) มาทำให้คะแนนของเว็บไซต์ข่าวปลอมเพิ่มขึ้น

เรียกว่า คนทำมีทั้งความเก่งและความโกง

เมื่อคนทั่วไปค้นหา ก็จะเจอเว็บเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ ขณะเดียวกัน โฆษณาที่ถูกส่งมาจาก Google ก็จะเป็นโฆษณาชั้นดีที่มีมูลค่าต่อคลิกสูงกว่า

SEO คือเทคนิคหลัก ที่คนร้ายกลุ่มนี้นำมาใช้ ตั้งแต่การตั้งชื่อข่าว คำที่ใช้ในข่าว ลักษณะการเขียนเว็บ การเชื่อมโยงระหว่างกัน

ถือว่างานนี้ “หลอก” Google ได้อยู่หมัด

โดยปกติแล้วเราอาจจะคุ้นเคยกับ SEO ในมุมคนดี สร้างเนื้อหาเพื่อการตลาด “สร้างเว็บให้ตรงใจ” “เขียนข่าวอย่างไรถูกใจ Google” “ค้นอย่างไรก็เจอ”

แต่คราวนี้ SEO ถูกนำมาใช้สนับสนุนสิ่งที่ไม่ถูกต้องบ้าง และใช้อย่างชำนาญการ นั่นแปลได้ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเว็บปลอมระลอกนี้ อาจจะต้องมีความรู้เรื่องนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

จับจุด (อ่อน) คนไทย

จากการดำเนินการดังกล่าว คนร้ายที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้างความแตกตื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองนี้ ยังรู้พฤติกรรมผู้ใช้งานเป็นอย่างดี เขาเริ่มปล่อยเว็บผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีคนไทยใช้คึกคัก โดยใช้เทคนิคการปลอมตัวและหลอกให้ตายใจ

หน้าเว็บมีการใส่ตัวเก็บสถิติไว้ทุกหน้า แม้จะไม่ละเอียดมาก แต่ก็ทำให้เขารู้และเทียบได้ว่า ยอดที่แต่ละข่าวปลอมสามารถเรียกคนเข้าเว็บได้นั้นเป็นอย่างไร

เมื่อเว็บต่าง ๆ “Go Mobile” หรือมีนโยบาย “Mobile First” คือ ทำเว็บเน้นให้ดูง่ายผ่านมือถือเข้าไว้ คนสร้างเว็บปลอมผู้มีองค์ความรู้ ก็ไม่รอช้า ทำเว็บในยุคหลังให้ตัวมันเองตรวจสอบได้ว่า ถ้าเข้ามาด้วยมือถือระบบไหน ให้ส่งหน้าเว็บที่แตกต่างกันไปให้ เช่น เข้าด้วยคอมพิวเตอร์ไม่โดนโฆษณา แต่ถ้าเข้าด้วยมือถือแอนดรอยด์ จะเด้งโฆษณามากถึง 16 หน้า

และตัวเว็บปลอมเอง ก็ทำให้หน้าตาเป็นหน้าเว็บที่พร้อมดูบนมือถือเสียเลย (ง่ายกว่าเดิมเสียอีก)

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นค่ายกลของขบวนการสร้างเว็บปลอม ที่ใช้เทคนิคความรู้มาหารายได้กับความเท็จ  โดยล่อหลอกให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือ

 

สรุปแล้วใครทำ ?

ผมคงไม่สามารถบอกตรงนี้ได้ว่าเป็นใคร แต่หากตามอ่านและทำความเข้าใจกันมาจะพบชัดเจนว่า

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเว็บปลอมข่าวเท็จ

  • เขาจะตระเวนหาภาพน่าตกใจจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน
  • จากนั้นนำมาตัดต่อเป็นเรื่องราว
  • ปั้นเนื้อข่าวเป็นภาษาไทยที่สอดคล้องเกาะกระแส
  • ใช้ข้อความอย่างถูกหลัก SEO
  • ใส่ลิงก์โฆษณาแบบ Pop-under
  • ตั้งชื่อไฟล์จากคำในภาษาไทย
  • เก็บในเว็บไซต์ปกปิดแหล่งที่มา
  • รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี
  • เปิดโซเชียลปลอมไว้ปล่อยข่าว
  • สุดท้ายก็นั่งรอรับเงินก้อนทุก 15 วัน

 

นี่ยังไม่ใช่บทสรุป…

ผมยังมีข้อมูลที่พบอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถนำมาเปิดเผยตรงนี้ได้ แต่ได้ส่งมอบให้กับพนักงานสืบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ไปแล้ว ด้วยมั่นใจว่า ขบวนการนี้ควรจะต้องร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำกับสังคมไทยในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

ถึงเวลาคนไทยต้องเปลี่ยน

แต่ทุกวิกฤตปัญหาย่อมมีบทเรียนที่ซ่อนอยู่ ประชาชนคนไทย สามารถใช้ปรากฏการณ์การหลอกลวงออนไลน์ครั้งนี้ มาเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับตนเองได้ ด้วยการ

“ไม่เชื่อเร็วเกินไป” และ “ไม่แชร์ก่อนตรวจความจริง” 

ไม่ว่าเรื่องนั้นจะน่าตกใจหรือดูเหมือนเป็นประโยชน์ขนาดไหนก็ตาม

 

…แล้วประโยคเดิมที่นักวิเคราะห์คนนั้นพูดกับผม ก็เริ่มกลับเข้ามาในหัว

“พวกมันรู้ว่าคนไทยชอบโซเชียล ชอบคลิก ชอบแชร์ มันเลยเลือกลักษณะเด่นนี้ของคนไทยมาทำมาหากิน”

ถึงเวลาที่เราต้องมาจบสิ่งนี้ให้สิ้นซากสักที

 


 

บัญชีรายชื่อเว็บปลอม (บางส่วน)

ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2559 | รายชื่อเว็บเหล่านี้ มีไว้เพื่อการเฝ้าระวัง ไม่ควรนำชื่อเว็บไซต์ไปทดลองเข้าดูด้วยตนเอง เพราะอาจจะมีโฆษณาหรือซอฟต์แวร์มุ่งร้ายแฝงอยู่

ปลอมเป็น “ข่าวสด” [ เว็บจริง www.khaosod.co.th ]

khaosod.online
khaosod-online.com
khaosod-onlines.com

ปลอมเป็น “เดลินิวส์” [ เว็บจริง www.dailynews.co.th ]

dailynew.org
daily-new.com
dailynewsonlines.com

ปลอมเป็น “คมชัดลึก” [ เว็บจริง www.komchadluek.net ]

komchadluck.com
komct.com

ปลอมเป็น “มติชน” [ เว็บจริง www.matichon.co.th ]

matichorn.com
martichon.com *
maticnon.com *

ปลอมเป็น “ทีวีพูล” [ เว็บจริง www.tvpoolonline.com ]

tvpoolonlines.com
tvonlines.club

ปลอมเป็น “ไทยรัฐ” [ เว็บจริง www.thairath.co.th ]

thairaht.com
thairath-online.com

ปลอมเป็น “บีอีซีเทโร” [ เว็บจริง www.bectero.com ]

bectaro.com
bectero.online

ปลอมเป็น “ช่อง 7″ [ เว็บจริง www.ch7.com ]

news-7.net
7-hd.com
ch7-news.com

ปลอมเป็น “ชิลไปไหน” [ เว็บจริง www.chillpainai.com ]

chillpinai.com

ปลอมเป็น “YouLike”

youlike.online
youlikeonline.com

ปลอมเป็น “Kapook”

news-kapook.com

ปลอมเป็น “SkyNews”

skynewsth.com

ปลอมเป็น “Facebook”

m-faecbook.com

ชื่อเว็บลวง เอาไว้ปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ

TH-LLLLLLLLLL.WEBSITE
th-news.com
th-1.website
th.today
thtoday.com
onlinethaithai.com

ปลอมเป็นเว็บกระทรวงฯ

mogpnews.com

ปลอมเป็นเว็บตำรวจกองปราบ

police1195.com

 * ชื่อเว็บปลอมเพิ่งเปิดใหม่เพิ่มเติม


ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท

LINE: @TNAMCOT

พบกันทุกวันในข่าวค่ำ ช่อง 9MCOT HD

ดูชัวร์ก่อนแชร์ ย้อนหลัง http://j.mp/sureyoutube

Facebook ชัวร์ก่อนแชร์ http://facebook.com/SureAndShare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เพลิงไหม้ห้องพักคอนโดฯ หรูกลางเมืองพัทยา

เพลิงไหม้คอนโดมิเนียมหรูกลางเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ระดมรถน้ำควบคุมเพลิงได้ทัน ทำให้ไฟไม่ลุกลามห้องข้างเคียง

จับ “ใบเฟิร์น” อินฟลูฯสาวชื่อดัง โพสต์ชวนเล่นพนันออนไลน์

ตำรวจไซเบอร์ รวบ “ใบเฟิร์น กุลธาดา” อินฟลูฯ สาวแนวเซ็กซี่ ผู้ติดตามหลักล้าน แปะลิงก์เว็บพนันออนไลน์ เจ้าตัวยอมรับ ทำมาแล้ว 2-3 เดือน

ลิงลพบุรีแหกกรง กว่า 200 ตัว จ่าฝูงนำทีมบุกโรงพัก

ลิงลพบุรีกรงแตก เพ่นพ่านกว่า 200 ตัว จ่าฝูงนำทีมบุกโรงพักท่าหิน ตำรวจปิดประตูหน้าต่างวุ่น ล่าสุดกลับมากินอาหารในกรงแล้วกว่า 100 ตัว กรมอุทยานฯ เร่งลุยจับ คาดใช้เวลา 2-3 วัน

ข่าวแนะนำ

ฆ่าตัดนิ้ว

เปิดปากสารภาพฆ่าตัดนิ้วแม่ยายอัยการ ชิงทรัพย์ล้างหนี้พนัน

หญิงวัย 56 ปี เปิดปากสารภาพฆ่าตัดนิ้วชิงทรัพย์แม่ยายอัยการ ก่อนนำทรัพย์สินไปขายใช้หนี้พนัน ตำรวจคุมตัวไปตามหาทรัพย์สินของกลาง อ้างลงมือก่อเหตุคนเดียว

เจ๊พัชกฤษอนงค์

นำ “เจ๊พัช” ฝากขังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

กองปราบหิ้ว “กฤษอนงค์” ฝากขังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตำรวจค้านประกัน เจ้าตัวสีหน้าเรียบเฉย

พะยูนตาย

ห่วงสถานการณ์พะยูน พบตายถี่จากแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

“เฉลิมชัย” ห่วงสถานการณ์ “พะยูน” ซึ่งพบตายบ่อยขึ้น สั่งการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมอุทยานแห่งชาติฯ เฝ้าติดตามปัญหา ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขโดยด่วน