กรุงเทพฯ 28 ธ.ค. – สภาผู้ส่งออก ระบุ ทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลส่งออกปี 2559 ทรงตัวที่ร้อยละ 0 และคาดปี 2560 โตร้อยละ 1-2
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยสถานการณ์ส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่า การส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2559 มีมูลค่า 18,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 10.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 657,623.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออก 11 เดือนแรก มีมูลค่า 197,161.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว ร้อยละ -0.05
ด้านปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยในเดือนพฤศจิกายนให้มีการเติบโตสูงสุดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1.ราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 1,300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทำให้มีการส่งออกทองคำออกไปเป็นจำนวนมาก 2.ทิศทางราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลายรายการ อาทิ ยางพารา ฝ้าย เหล็ก และ สินแร่โลหะ เป็นต้น และ 3.ประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เร่งเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังให้เพียงพอ สำหรับการขายในช่วงหลังเทศกาลคริสต์มาสและเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลตรุษจีนซึ่งจะเป็นช่วงหยุดยาวของหลาย ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งยืนยันด้วยทิศทางค่าระวางขนส่งสินค้าระยะสั้น (Spot Rate) ในระบบคอนเทนเนอร์ในเส้นทาง เอเชีย-ยุโรป และเอเชีย-สหรัฐอเมริกา ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนและต่อเนื่องต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้สภาผู้ส่งออกปรับประมาณการการส่งออกปี 2559 ไว้ที่ทรงตัวหรือร้อยละ 0
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกปี 2560 ไว้ที่ร้อยละ 1 – 2 โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะ ได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่สำคัญในตลาดโลกต่อเนื่องจากปลายปี 2559 และ 2. การปรับตัวของผู้ส่งออกไทยต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าระหว่าง ประเทศของโลกในปีหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงเปราะบางและยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว แต่ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภค ว่าจะดีขึ้นในทิศทางเดียวกันหรือไม่ 2. การออกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม ภายในประเทศซึ่งอาจนำโดยสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การตอบโต้ในลักษณะเดียวกันโดยประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การค้า ระหว่างประเทศ ในภาพรวมหดตัวลงในระยะยาว แต่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2560 เป็นต้นไป 3. สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งอาจ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าตามมาในวงกว้าง และ 4. ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในซัพพลายเชนของการค้าระหว่างประเทศ. – สำนักข่าวไทย