รัฐสภา 2 ก.พ. – โฆษกวิป สปท. เผย วิป สปท. ขอให้ กมธ.สื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ ใหม่ หลังเกิดกระแสค้านและมีข้อสังเกตจากหลายฝ่าย ด้าน สุภิญญา ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ชี้ สุดโต่งเกินไป
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงว่า วิป สปท.พิจารณารายงานปฏิรูปสื่อ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สปท. ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริม จริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ และร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นผลพวง อย่างกว้างขวาง
นายคำนูณ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ที่จะให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนตามกฎหมาย แต่ในรายละเอียด เห็นว่ามีข้อสังเกตจากคณะกรรมาธิการฯ จำนวนมาก และถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ จึงต้องการให้ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เห็นสมควรให้นำกลับไปปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง จึงงดประชุมในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.
“ยังไม่ได้กำหนดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สปท.ในวันไหน ต้องรอดูในวันถัด ๆ ไป ยังไม่ได้กำหนดว่าเมื่อไร แต่คิดว่าคงจะเร็ว” นายคำนูณ กล่าว
สำหรับประเด็นที่วิปเสนอให้นำไปปรับปรุงส่วนใหญ่นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า เป็นประเด็นหลักที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ที่เสนอให้ยกระดับการควบคุมกันเอง มาเป็นการควบคุมกำกับโดยให้มีสภาวิชาชีพทางกฎหมาย และมีข้อสังเกตเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ 1 ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริม จริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .. ที่ สปท.นำเสนอ เพราะมองว่าเป็นการย้อนยุคสมัย 4.0 ที่จะให้มีคณะกรรมการ กบว.มาควบคุมสื่อ จึงต้องการให้ สปท.ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะสุดโต่งเกินไป
“เข้าใจภาคสังคม ที่อยากจะเห็นสื่อมีการกำกับจริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ดังนั้น ควรจะมีทางออกตรงกลาง ซึ่ง กสทช.พยายามที่จะออกร่างประกาศ เพื่อให้มีกลไกส่งเสริมให้สื่อกำกับตัวเองทางจริยธรรม แต่ร่างนี้ยังไม่ผ่าน ขณะเดียวกัน ควรใช้กลไกทางสังคมในการตรวจสอบมากกว่า” นายสุภิญญา กล่าว
สำหรับเรื่องที่จะให้มีการออกใบอนุญาตเป็นรายบุคคลนั้น น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า วิชาชีพสื่อเป็นวิชาชีพที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ หากรัฐพยายามเข้ามาควบคุม จะส่งผลให้สื่อไม่มีความกล้า ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง รวมถึง ปัจจจุบันการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน มีการทำงานภายใต้เงื่อนไข กติกา อยู่แล้ว ดังนั้น ควรใช้หลักการและเหตุผลพูดคุยกันมากกว่า .- สำนักข่าวไทย