รัฐสภา 2 ก.พ. –ประธาน กรธ.แนะเพื่อให้ร่างพ.ร.บ.สื่อฯ สมบูรณ์ ฝ่ายเห็นต่างควรพูดคุยกับกมธ.ปฏิรูปสื่อ หากยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ควรหาคนกลาง ที่ทั้งสองฝ่ายไว้ใจ ช่วยหาทางออก มั่นใจไม่เป็นชนวนขัดแย้งระหว่างสื่อกับรัฐบาล ด้านตัวแทนองค์กรสื่อ ลาออกจากอนุกรรมาธิการปฏิรูปด้านสื่อ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.สื่อฯ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ. ) กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนสื่อมวลชน 4 คน ลาออกจากการเป็นอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท. )หลังกรรมาธิการมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เป็นตามที่เสนอ ว่า เรื่องนี้สามารถเห็นต่างกันได้ แต่ก็อยากให้พูดคุยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพราะหากไม่มีการพูดคุย ก็จะไม่รู้ถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย หากคุยกันแล้วยังเห็นกันคนละทาง ก็ต้องลองไปหาคนที่มีความเห็นกลาง ๆ มาเพื่อหาทางออกที่ทำให้เป็นความต้องการด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายว่าจะไว้วางใจใครที่จะดูแลช่วยหาทางออกได้
ประธาน กรธ. กล่าวว่า ข้อเสนอของ สปท.ไม่น่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาล เพราะกระบวนการ ยังไม่ถึงที่สุด ส่วนเนื้อหาภายในร่างกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สนช.จะเป็นผู้พิจารณาเอง
นายมีชัย ยังได้ขอพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 79 ปี ซึ่งตรงกับวันนี้ (2 ก.พ. )ว่า ขอให้ประเทศสงบสุขและขอให้คนไทยมีความสุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ เวลา 11.30 น. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข และน.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากอนุกรรมาธิการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่าน นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด รองกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน เนื่องจากที่ผ่านมา กรรมาธิการ ได้มอบหมายให้อนุกรรมาธิการชุดดังกล่าว ศึกษาและนำเสนอรายงาน ต่อกรรมาธิการเรื่องการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
ซึ่งอนุกรรมาธิการได้พิจารณาศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่กรรมาธิการกลับมีข้อเสนอแนะที่แตกต่างกัน และหลักการดังกล่าวยังขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานสำคัญในการรับรองสิทธิการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า การลาออกครั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะ ประเด็นการให้อำนาจสภาวิชาชีพตามร่างกฎหมาย มีอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และยังกำหนดให้ปลัด 4 กระทรวง เข้ามาเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ โดยตำแหน่งด้วย การกำหนดหลักการต่าง ๆ ไม่ใช่การปกป้องสิทธิสื่อมวลชน และยังขัดต่อหลักการในรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายประดิษฐ์ กล่าวว่า การเข้ามาเป็นอนุกรรมการครั้งนี้ ตั้งใจมาทำหน้าที่เพื่อปกป้องสื่อมวลชน แต่เมื่อกรรมาธิการชุดใหญ่ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริง และไม่รับฟังความคิดเห็นจากอนุกรรมาธิการ ที่ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นจากสื่อมวลชน จึงแสดงจุดยืนด้วยการลาออก .- สำนักข่าวไทย