กรุงเทพฯ 14 ก.พ. -สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผย ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมปี 2559 เติบโตขึ้นร้อยละ 2.97 ใกล้เคียงกับตัวเลขร้อยละ 3.0 ที่ประมาณการณ์ไว้ หวังนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการเร่งรัดงบประมาณที่ส่งผลให้การบริโภคประชาชนเติบโตได้ตามคาดในปีนี้ร้อยละ 3.0-3.2
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การวัดดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจะแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ กลุ่มสินค้าคงทนถาวร กลุ่มสินค้ากึ่งคงทนถาวรและกลุ่มสินค้าไม่คงทนถาวร ซึ่งหมวดสินค้าคงทนถาวรมีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก ปัจจัยหลักเกิดจากการที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในปี 2558 – 2559 ไม่เติบโตเท่าที่ควร ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทนถาวร เติบโตเพียงร้อยละ 1.95 ส่วนหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรอัตราการเติบโตทรงตัว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น โดยหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และหมวดสินค้าไม่คงทนถาวรมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวรวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ยอดขายในไตรมาสแรกไม่เติบโตเท่าที่ควร
ส่วนแนวโน้มปัจจัยบวกที่มีต่อสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกปี 2560 อยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การเพิ่มงบประมาณกลางปีอีก 190,000 ล้านบาท การรักษาการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว และการปรับตัวของรายได้เกษตรกร ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีก คือ หนี้ครัวเรือน ที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับร้อยละ 80.2 มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของเอสเอ็มอีจากสถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยชะลอการจับจ่ายลง และเป็นภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงต้องดูและปรับตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน ในขณะนี้จึงต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก โดยรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 น่าจะดีกว่า ปี 2559 เล็กน้อย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตน่าจะอยู่ราวร้อยละ 3.0-3.2
ขณะที่ข้อเสนอต่อภาครัฐ ในการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง รัฐต้องเร่งหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาทิประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลล์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน สร้างบรรยากาศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมา ศึกษาการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำเพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการค้าชายแดนและกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเร่งด่วน รวมถึงการจัดระเบียบการค้าออนไลน์ที่อยู่นอกกรอบให้เข้าระบบ-สำนักข่าวไทย