กรุงเทพฯ 28 ก.พ.-คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามพระสงฆ์รับมรดกและห้ามรับปัจจัยที่มีมูลค่ามาก เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและเสริมสร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขณะที่พระสงฆ์บางรูปมองว่า พระได้รับปัจจัยไม่มาก และมีความจำเป็นต้องมีปัจจัยไว้ใช้จ่ายส่วนตัว หากผ่านร่างกฎหมายนี้มาอาจส่งผลต่อศาสนา
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ พระภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับ และไม่ยินดีในเงินทอง คือ สิ่งที่ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เสนอให้มีการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 1622 และ 1623 โดยมีสาระสำคัญเรื่องการห้ามพระรับมรดกและปัจจัยที่มีมูลค่ามาก
ปัจจุบันในมาตรา 1622 ระบุว่า พระภิกษุจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้อง ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แต่พระภิกษุนั้นอาจจะเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ กฎหมายข้อนี้ อ.จรัญ ชี้ว่า ยังมีช่องโหว่ที่สามารถหลบเลี่ยงให้พระภิกษุรับพินัยกรรมได้ ทำให้ต้องมีภาระในทางโลก สามารถฟ้องร้องแย่งชิงสมบัติได้ อันจะเกิดความเสียหายต่อสถานะและภารกิจสงฆ์ และยังขัดต่อหลักพระธรรมวินัย เพราะในพระพุทธศาสนาไม่อาจมีเศรษฐีภิกษุได้
ร่างกฎหมายในมาตรานี้เสนอแก้ไขเป็นพระภิกษุจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกไม่ได้ ไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรม เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในอายุความตามมาตรา 1754
เช่นเดียวกับมาตรา 1623 ที่ระบุว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม ให้แก้ไขเป็น ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาไม่ว่าโดยทางใด ในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ให้ตกเป็นสมบัติของแผ่นดินทันที เว้นแต่บริขารที่อาจจะมีได้ตามพระธรรมวินัย และไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ ของผู้ให้ หรือของพระภิกษุ ผู้ได้มาในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินนั้น เพราะกฎหมายฉบับปัจจุบันยังมีการเปิดช่องว่างให้พระภิกษุมีทรัพย์สมบัติและสะสมทรัพย์สมบัติทางโลกได้จนกว่าจะมรณภาพ ก่อนที่สมบัตินั้นจะตกเป็นของวัด จึงตกเป็นภาระแก่เจ้าอาวาสที่ต้องมีหน้าที่บำรุงรักษา
ขณะที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัยแสดงทัศนะว่า การจัดการทรัพย์สินภายในวัดจะต้องผ่านไวยาวัจกร ซึ่งเป็นฆราวาสอยู่แล้ว และความเป็นจริงปัจจัยที่พระสงฆ์ได้รับจากกิจกรรมทางศาสนา เช่น การบิณฑบาต และกิจนิมนต์ ถือว่าน้อยมาก หากเป็นวัดในชนบท ส่วนใหญ่พระจะเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว ทางแก้ไขภาครัฐควรมีสวัสดิการให้พระสงฆ์เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง และค่าอาหาร และยังกังวลว่าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบ จะส่งผลต่อพระพุทธศาสนา จำนวนพระลดลง เพราะไม่มีใครกล้าบวช
คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาของ สนช.อยู่ระหว่างการศึกษาข้อเสนอ ข้อดี ข้อเสีย ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดกรอบ 30 วัน เพราะการแก้ไขร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามพระรับมรดกและปัจจัยมูลค่ามาก อาจดูเหมือนเป็นการจำกัดสิทธิพระภิกษุ แต่หากการปล่อยให้พระภิกษุรับและสะสมทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก นอกจากจะเป็นการขัดแย้งต่อพระธรรมวินัยแล้ว ยังทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา.-สำนักข่าวไทย