รร.เอบีน่าเฮ้าส์ 24 ส.ค.-ภาคประชาชน นักวิชาการด้านสตรี เรียกร้องปรับแก้กฎ กพ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิด หรือ คุกคามทางเพศ ให้บังคับใช้ได้จริง พร้อมเสนอลดขั้นตอนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์แก่ข้าราชการที่ทำผิด
การเสวนาคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว : รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ภาคประชาชนด้านสตรี ย้ำต้องเปิดพื้นที่ให้สังคมกับผู้ถูกกระทำมากขึ้น เลิกตั้งคำถามทางลบกับสตรี ขณะเดียวกันกระบวนการกฎหมาย กลไกการสอบคุกคามทางเพศ ไม่ควรใช้เวลานาน เพื่อไม่ให้เพิ่มโอกาสหรือสนับสนุนคนทำผิดให้อยู่ในสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติ
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย )บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นว่า แม้มีกฎ กพ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ.2553 นั้น แต่ก็ไม่ได้เกิดความตระหนักใช้ หรือตระหนักในกฎหมาย เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี2557 ในหน่วยงานยังคงมีระบบอุปถัมภ์ช่วยเหลือคนมีตำแหน่ง เมื่อร้องเรียนกลับถูกตั้งคำถามว่า มีการยั่วยวน จงใจ หรือมีการกลั่นแกล้ง ซึ่งการแก้ไขต้องเริ่มจากสังคม เลิกตั้งคำถามแบบนี้ เปิดพื้นที่ให้มีการร้องเรียนได้อย่างจริงจัง ขณะนี้แม้ทราบว่า มีการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าระบบมีความล่าช้า ใช้เวลานาน 120 วัน สอบอีก 3 เดือน และยังเปิดให้มีการแก้ต่างอุทธรณ์ได้ทั้งที่มีความผิด ประจักษ์จากคลิปภาพ เรื่องนี้สามารถลดขั้นทอนการสอบไม่ต้องนานขนานนั้นได้ เพราะกว่าเรื่องจะเสร็จใช้เวลาเกือบปี
นางทิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการปรับแก้หรือลดขั้นตอนระ เบียบราชการ ที่ใช้ระยะเวลาสอบสวนนาน เพื่อมิให้เป็นการปกป้องข้า ราชการจนกลายเป็นมนุษย์ทองคำทำอะไรไม่ได้ และกฎ กพ. ทำอย่างไรให้เกิดความตระหนัก ไม่ใช่ต้องเอามาตีความ แต่ทุกคนต้องรู้ว่า ต้องใช้จริง และมีบทลงโทษชัดเจน ไม่ใช่เสือกระดาษ
“ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องการกระทำของข้าราชการ ซี 6 ซึ่งไม่ได้สูงเหมือนผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ก็มีพฤติกรรมข่มขู่ให้คนสยบยอมได้ในที่ทำงาน และเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ผ่านมาตั้ง 3 ปี จะไม่มีใครรู้เหรอ เชื่อว่า เรื่องแบบนี้ จะพบในกลุ่มคนมีอำนาจ และแปลกที่มักจะมีคำถามตามมาถึงผู้เสียหายว่า ทำไมถึงไม่ร้องเรียน ทำไมถึงไม่บอกคนอื่น” นางทิชา กล่าว
ด้านนางสาวอังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เชื่อว่ามีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ถูกคุกคามลวนลามทางเพศในที่ทำงาน เพราะผู้กระทำมีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ และใช้อำนาจที่เหนือกว่า ขณะที่ผู้หญิงหลายคนที่ถูกคุกคามก็ไม่กล้าดำเนินการเอาผิด เพราะกลัวมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน กลัวตกงาน ทำให้จำนวนการแจ้งเหตุร้องทุกข์มีน้อย พร้อมเรียกร้องให้สังคายนา กฎ กพ. ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
นางสาวธารารัตน์ ปัญญา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยล่วงละเมิดทางเพศ เรียกร้องจนทำให้ผู้ก่อเหตุถูกลงโทษ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ผู้ถูกกระทำอย่านิ่งเฉย เพราะการนิ่งเงียบ ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อเจอปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งสำคัญเราต้องใช้ชีวิตในสังคมต่อไป ตอนเจอเหตุการณ์ รู้สึกช็อค สังคมหรือคนรอบข้างก็ตั้งคำ ถามว่า ทำไมเราถึงไม่กรีดร้อง คนอื่นเข้าใจว่าเรายินยอม ซึ่งการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เหมือนในละคร ที่จะต้องแสดงท่าทีขัดขืนชัดเจน เพราะในความจริงมักเกิดจากคนใกล้ตัว มากกว่าคนแปลกหน้า ทำให้ต้องชั่งใจและมีความกล้ามากกว่าเดิม.-สำนักข่าวไทย