กระทรวงกลาโหม 17 ก.พ.- โฆษกคณะกรรมการปรองดอง เตรียมสรุปข้อเสนอพรรคการเมืองชุดแรกเพื่อจัดทำร่างสัญญาประชาคม เผยพรรคการเมือง ยอมรับปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยหลักนิติธรรมควบคู่กับหลักประชาธิปไตย เพื่อสร้างความปรองดองในสังคมร่วมกัน
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ในการหารือ พูดคุยร่วมกับคณะอนุกรรมการประชุมคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เมื่อวานนี้ (16ก.พ.)ที่มีพรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย พรรคไทยรวมพลังและพรรคไทยมหารัฐพัฒนา และวันนี้ (17ก.พ.) มีพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือนั้น บรรยากาศการพูดคุยในวันนี้เป็นไปด้วยดี พรรคประชาธิปัตย์มีการเตรียมข้อมูลมาดี และสรุปข้อคิดเห็นแต่ละด้านมาหารือกัน
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ด้านการเมือง พบมีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย และพบว่าประชาธิปไตยไม่มีปัญหาแต่อยู่ที่ผู้ใช้ ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจนักการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาหลัก เกิดจากระบบทุนที่มาสนับสนุนพรรค ที่เป็นแบบต่างตอบแทนกัน โดยพรรคการเมืองมีข้อเสนอว่าประชาธิปไตยต้องอยู่คู่กับหลักนิติธรรม ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และรัฐบาลต้องมีอำนาจที่จำกัดต้องไม่แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระและจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระด้วย และทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องเคารพสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง โดยรัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียมกัน
“นอกจากนี้ยังพบว่านายทุนมีอิทธิพลต่อทุกพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นต้องทำให้ประชาธิปไตยเดินคู่ไปกับหลักนิติธรรม ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทางการเมืองด้วย คือพอเพียง พอประมาณ และไม่สุดโต่งในการบริหาราชการแผ่นดิน” พล.ต.คงชีพ กล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม จะต้องมีการกระจายรายได้และปฎิรูปอย่างเร่งด่วน เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยให้ประชาชนมีสิทธิทำมาหากินครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลต้องต้องมีขอบเขตอำนาจที่จำกัดไม่แทกแซงองค์กรอิสระ มีกลไกบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด สามารถตรวจสอบทุจริตในทุกหน่วยงานและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบรัฐบาลได้ ซึ่งเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นต้องแก้ปัญหาด้วยการปลูกฝังค่านิยม และให้ทราบผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ต้องทำให้ประชาชนรู้สิทธิหน้าที่ของตัวเอง มีส่วนร่วม มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ด้านการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอมุมมองที่คล้ายกันกับคณะอนุกรรมการฯ ว่าไม่ควรนำความขัดแย้งของพรรคที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ไปขยายจนกระทบภาพลักษณ์และความเสียหายแก่ประเทศ และสื่อมวลชนมีผลต่อความขัดแย้งต้องพิจารณาตนเองนำเสนอข้อมูลบนความถูกต้อง ไม่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองและรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ จึงเสนอ ควรมีกลไกพิเศษมาดูแลเรื่องจริยธรรมของสื่อ
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปฎิรูป ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ส่วนยุทธศาสตร์ชาติทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ เพราะเป็นการกำหนดอนาคตและเป้าหมายระยะยาวของประเทศจึงต้องกำหนดวิสัยทัศน์ในระยะยาว ค่อย ๆ สร้างความเข้าใจต่อไป แต่อาจมีความยืดหยุ่นเช่นการกำหนดวิสัยทัศน์ คราวละ 5 ปี เป็นต้น
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังเห็นด้วยกับการสร้างความสามัคคีปรองดองที่อยากให้มีเจ้าภาพเดียวในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ถือว่าดีแล้ว และไม่วิจารณ์ข้อคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ ในที่สาธารณะ และเปิดกว้างรับฟังความเห็นทุกฝ่ายและการปรองดองที่เกิดขึ้นจะต้องทำความจริงให้ปรากฎ อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็นประโยชน์ที่คณะอนุฯ จะใช้เป็นแนวทางสร้างความปรองดองร่วมกันในอนาคตพร้อมขอเวลาในการรวบรวมข้อมูล ขอให้เชื่อใจการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ จะเปิดโอกาสให้พรรคประชาธรรม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน และพรรคประชาสามัคคี ซึ่งทั้ง 3 พรรคจะเดินทางมาประชุมพร้อมกันในเวลา 13.30-16.30น. ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อเข้าแสดงความคิดเห็น และในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ พรรคปฎิรูปไทย ,พรรคพลังคนกีฬา และพรรคเพื่อชีวิต จะเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะกับคณะอนุกรรมการดังกล่าวในเวลา 13.30-16.30น. เช่นเดียวกัน
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในวันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ จะไม่เชิญพรรคการเมืองร่วมให้ข้อเสนอแนะ เพราะคณะอนุกรรมการรับฟังข้อคิดเห็นจะรวบรวมข้อมูลจากพรรคการเมืองต่าง ๆที่ประชุมไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 14-21 กุมภาพันธ์ เพื่อจัดทำข้อสรุปเบื้องต้นก่อน และส่งให้คณะอนุกรรมการบูรณาการข้อคิดเห็นที่มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน ซึ่งหากยังไม่ได้ข้อเสนอที่ชัดเจนก็จะประชุมกลุ่มย่อยให้แล้วเสร็จก่อนจะนำข้อสรุปไปให้กับคณะอนุกรรมการข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน เพื่อจัดทำร่างสัญญาประชาคมต่อไป และจะรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่คู่ขนานกันไปด้วย เพราะกระบวนการปรองดองเป็นของประชาชนทุกคนความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หากประชาชนช่วยกัน.-สำนักข่าวไทย