กรุงเทพฯ 21 ก.พ.-หลังจากเมื่อวานนี้ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกรณีพบบ้านอยู่อาศัยเขตลาดกระบัง ดัดแปลงเป็นอาคารหอพักสูง 12 เมตร กว่า 900 หลัง และสร้างในพื้นที่ฟลัดเวย์ สำนักงานเขตลาดกระบังสั่งแก้ไขและรื้อถอนอาคาร ขณะที่นักวิชาการเสนอแนะหากรื้อถอนไม่ได้ ให้ทุบชั้นล่างทิ้ง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้
นี่เป็นภาพมุมสูงที่แสดงให้เห็นอาคารหอพักกว่า 50 คูหา บริเวณซอยฉลองกรุง ที่สำนักงานเขตลาดกระบังเพิ่งตรวจสอบพบว่า มีการดัดแปลงบ้านพักเป็นหอพัก และสร้างในพื้นที่เขียวลาย หรือฟลัดเวย์ ขัดต่อผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ที่ห้ามสร้างหอพัก โดยจะเห็นกลุ่มอาคารหอพักตั้งอยู่ด้านหน้าติดกับถนน ทางฝั่งซ้ายติดกับคลองซอยที่เชื่อมกับคลองประเวศบุรีรมย์ที่อยู่ทางด้านหลัง โดยคลองประเวศบุรีรมย์ เป็นคลองที่ ผอ.สำนักผังเมือง กทม.ระบุว่า เป็นคลองหลักที่ใช้ในการระบายน้ำ และรองรับน้ำจากทางเหนือของกรุงเทพฯ และมักเป็นจุดที่วิกฤติในฤดูน้ำหลาก
ตามผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่เขียวลาย คือ จะใช้เป็นพื้นรองรับน้ำ หรือพื้นที่ฟลัดเวย์ โดยมีข้อห้ามคือการสร้างสิ่งที่อยู่อาศัยรวม หรือหอพักแบบนี้ เพราะการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ
ผอ.ผังเมือง กทม.ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ของเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำ แต่หากปล่อยให้มีที่อยู่อาศัยเช่นหอพักความสูง 4 ชั้นหลายแห่ง จะเป็นตัวการปิดกั้นทางน้ำไหลผ่าน หรือผ่านได้ในปริมาณน้อย ทางออกของปัญหานี้คือ ต้องทุบอาคารทั้งตึกทิ้ง หรือทุบเฉพาะชั้นล่าง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติระบุว่า พื้นที่สีเขียว หรือฟลัดเวย์ในกรุงเทพฯ จำเป็นมาก ปัจจุบันมีเพียง 300 ตารางกิโลเมตร และมีข้อแนะนำให้ผู้สร้างอาคารในพื้นที่สีเขียวกว่า 900 แห่ง ที่รุกฟลัดเวย์ ปรับแก้ โดยอาจทำให้ชั้นล่างหรือชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้น้ำระบายได้ และรัฐไม่ควรจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้สร้างอาคารรุกที่ฟลัดเวย์
เดิม กทม.เคยมีพื้นที่รองรับน้ำ 400,000 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ 170,000 ไร่ เพราะมีการสร้างอาคารที่พักรุกล้ำตามความเติบโตของเมือง มาตรการทางกฎหมายกับผู้ดัดแปลงและสร้างหอพักรุกฟลัดเวย์ในพื้นที่ลาดกระบัง ซึ่งมีมากถึง 900 แห่ง เบื้องต้นเขตลาดกระบังได้ออกหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามแปลนที่ยื่นขออนุญาตในเวลาที่กำหนด หากผู้ประกอบการไม่สามารถแก้ไขตามคำสั่ง จะต้องรื้อถอน และมีโทษจำคุก 6 เดือน ในกรณีเป็นที่อยู่อาศัยปรับ 60,000 บาท แต่หากเป็นอาคารเชิงพาณิชย์ปรับ 100,000 บาท.-สำนักข่าวไทย