พระนครศรีอยุธยา 24 พ.ย.- ผอ.ศิลปากรที่ 3 ชี้แจงการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หลังคณะกรรมการฯ อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกท้วงติงหลายประเด็น
นายประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และท้วงติงหลายประเด็นในการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาว่า การอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั้น ได้ดำเนินการไปตามแผนแม่บท ซึ่ง ครม.อนุมัติ ตั้งแต่ปี 2536 ส่วนการบูรณะวัดทั้ง 16 แห่ง เป็นพื้นที่วัดร้างและกรมศิลปากรเข้าไปดำเนินการทั้งหมด ได้แก่ 1.วัดพระศรีสรรเพชญ์ 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดราชบูรณะ 4.วัดพระราม 5.วัดป่าสัก 6.วัดสะพานนาค 7.วัดส้ม 8.วัดเจ้าพราหมณ์ 9.วัดมหาสมัน 10.วัดหลวงชีกรุด 11.วัดวังชัย 12.วัดโพง 13.วัดพระงาม 14.วัดชุมแสง 15.วัดสังขปัต และ 16.วัดไตรตรึง โดยสิ่งที่ถูกท้วงติงมา คือ การใช้วัสดุที่ไม่ได้เป็นแบบโบราณอย่างแท้จริง เช่น ใช้ปูนซีเมนต์ขาวเป็นตัวเชื่อมอิฐแบบโบราณ ทางคณะกรรมการฯ จึงเสนอให้ใช้ปูนแบบโบราณหรือปูนตำปูนหมักแทน ซึ่งขอรับไปศึกษาอีกครั้ง
นายประทีป กล่าวด้วยว่า ส่วนความรกรุงรังของสิ่งก่อสร้างใหม่ ขอชี้แจงว่าในพื้นที่อนุญาตก่อสร้างบนเกาะเมืองกรุงเก่า มี 3 หน่วยงานดูแล คือ กรมศิลปากร กรมธนารักษ์ และเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เมื่อมีการทักท้วงมาก็พร้อมจะตรวจตราให้ละเอียดขึ้น รวมถึงการวางสิ่งของร้านค้ารอบพื้นที่โบราณสถาน เพราะมีข้อกำหนดชัดเจนอยู่แล้ว สำหรับการย้ายทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่กลางเกาะเมืองออกไปนั้นอยู่ในแผนแม่บทเช่นกัน และกรมราชทัณฑ์เคยแจงว่าเห็นชอบสมควรย้าย แต่ยังไม่มีงบประมาณดำเนินการ และหากย้ายออกไปจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อปรับภูมิทัศน์ คืนความเป็นมรดกโลก และเป็นส่วนขยายของศูนย์บริหารนักท่องเที่ยวตรงศาลากลางหลังเก่าที่อยู่ติดกัน.-สำนักข่าวไทย