กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – เอ็กซิมแบงก์ออกสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีตัวเล็ก เน้นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง เริ่มฉายแววดีหลังโควิด-19 คลี่คลาย ยอมรับผลดำเนินงาน 6 เดือนแรก ขาดทุน 1,400 ล้านบาท
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังเตรียมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการสินเชื่อ EXIM For small Biz บริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อมรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี จ้างงานไม่เกิน 50 คน วงเงินผู้ซื้อ 100,000-500,000 บาท วงเงินประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อผู้เอาประกัน มาตรการสินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนขนาดกลาง EXIM Amazing M Credit เพื่อใช้เป็นหมุนเวียน วงเงินสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 3.75 ต่อปี มาตรการสินเชื่อเอ็กซิมเสริมไทยแกร่ง เน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มเครื่องสำอาง สินค้าดูแลสุขภาพ วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 เนื่องจากแนวโน้มสินค้าทั้ง 3 ทั้งกลุ่มสุขภาพ เทคโนชีวภาพ มีแนวโน้มไปได้ดีหลังพิษโควิด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ จึงต้องดูแลให้อยู่รอดต่อไปได้
“ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ยอมรับว่ากึ่งสงครามเศรษฐกิจ ผู้ส่งออกอาจบาดเจ็บบ้าง หากปรับตัวทันจะอยู่รอด จึงแนะนำผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนการผลิต การขายผ่านออนไลน์ ขายตรงผู้บริโภค มุ่งเกาะกระแสสินค้าความปลอดภัยต่อสุขสภาพ อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร เอ็กซิมแบงก์พร้อมช่วยเหลือรายย่อยหากขยันและปรับตัว หลังจากช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ 4,000 ราย วงเงิน 50,000 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 15 ของผู้ส่งออกทั้งหมด เนื่องจากหลายประเทศชะลอตัว” นายพิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากเอ็กซิมแบงก์ พบว่าการส่งออกชะลอตัว คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 8-10 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ติดลบร้อยละ 10 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดติดลบร้อยละ 8 หลังจากการส่งออกเดือนพฤษภาคมหดตัวร้อยละ 22.5 หดตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี สอดคล้องกับการส่งออกเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 20 เกาหลีใต้ติดลบร้อยละ 23.6 แต่ยังมีเพียงตลาดจีนที่มีศักยภาพในการส่งออกเริ่มขยายตัวร้อยละ 4.7 จึงถือเป็นตลาดเดียวที่ยังพอทำการส่งออกได้ สำหรับสินค้ายังมีแนวโน้มส่งออกได้ เช่น สินค้ากลุ่มอัญมณี ขยายตัวติดต่อกัน 5 เดือนร้อยละ 76 ขณะที่เดือนพฤษภาคมขยายตัวร้อยละ 108 ผลไม้สดแช่เย็น 5 เดือนขยายตัวร้อยละ 149 เดือนพฤษภาคมขยายตัวร้อยละ 20
สำหรับผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี มีสินเชื่อคงค้าง 126,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.02 มูลค่า 19,37 ล้านบาท เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์ TFRS9 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 2,908 ล้านบาท บวกกับสำรองผลขาดทุนเครดิตครึ่งปีแรก 2,579 ล้านบาท รวม 5,487 ล้านบาท ทำให้มีผลดำเนินงานขาดทุน 1,400 ล้านบาท ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ร้อยละ 6.37 เทียบกับยอดเดือนมิถุนายน 2562 ร้อยละ 4.6 .- สำนักข่าวไทย