กรุงเทพฯ 17 ก.ค.-“ศรีสุวรรณ” ชี้เอกสิทธิ์ทางการทูตใช้ไม่ได้กับกรณีโควิด-19 ในไทย อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตและกงสุลระบุชัดต้องเคารพกฎหมาย ข้อบังคับ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐผู้รับ
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กกรณีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตเอสโตเนีย 1 คนที่เพิ่งเดินทางเข้ามาภายในไทย พยายามขอเข้าพักคอนโดมีเนียมหรู มิลเลนเนี่ยม เรสซิเดนซ์ ย่านสุขุมวิท โดยอ้างสิทธิ์ทางการทูต แต่เจ้าหน้าที่ของคอนโดมีเนียมปฏิเสธการให้เข้าพัก เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกบ้านจากเชื้อโควิด-19 หลังเกิดกรณีทหารอียิปต์และลูกอุปทูตซูดาน ประกอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) แถลงชัดเจนว่าจะไม่อนุญาตสิทธิพิเศษ ให้บุคคลใดเข้ามา โดยไม่ต้องกักตัวอีก ว่า เรื่องดังกล่าวมีข้อสงสัยถึงการบริหารจัดการของกระทรวงการต่างประเทศ และศบค.อีกครั้ง ทั้งที่ประกาศชัดเจนว่ายกเลิกสิทธิการยกเว้นบุคคลพิเศษเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวแล้ว และกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งทุกสถานทูตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้วว่า คณะทูต คณะกงสุล องค์กระหว่างประเทศหรือผู้แทนรัฐบาลที่มาปฏิบัติงานในประเทศไทย เมื่อถึงไทยจะต้องกักตัวเอง 14 วัน รวมถึงต้องรอผลตรวจโควิดที่สนามบินก่อน แต่เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการบังคับโดยเด็ดขาดเช่นที่ศบค. แถลง
“ถ้าศบค.ปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนเหล่านั้นเข้ามาในประเทศโดยไม่กักตัว 14 วันตามมาตรฐานทั่วไป อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ เอกสิทธิ์ทางการทูต มีขอบเขตจำกัด ไม่สามารถใช้ได้ทุกเรื่อง ซึ่งตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 บัญญัติไว้ในข้อ 41 วรรคหนึ่ง ความว่าตัวแทนทางทูตมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกสอดในกิจการภายในของรัฐผู้รับ รวมทั้งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ.1963 บัญญัติไว้ในข้อ 55 วรรคหนึ่ง ความว่าเจ้าพนักงานกงสุลมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐผู้รับ ชี้ให้เห็นว่าจะอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูตมาใช้ในกรณีการปฎิบัติตามระเบียบการควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 ในไทยไม่ได้” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า อนุสัญญาดังกล่าวมีพ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และการคุ้มกันทางการทูต 2527 และพ.ร.บ.ว่าด้วยเอกสิทธิ์และการคุ้มกันทางกงสุล 2541 ซึ่งใช้เป็นกฎหมายที่อนุวัติของอนุสัญญาดังกล่าวไว้แล้ว อีกทั้งตามประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 ที่กำหนดอำนาจนายกรัฐมนตรีไว้ 40 ฉบับนั้น ไม่ปรากฏว่ามี 2 พ.ร.บ.ดังกล่าวข้างต้นอยู่ด้วย หากนายกรัฐมนตรีและศบค.จะใช้อำนาจออกข้อกำหนดยกเว้นให้เอกสิทธิ์ทางการทูต เพื่อเอาใจคณะทูต คณะกงสุล และองค์กรต่างประเทศ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยกรณีโควิด-19 ประชาชนชาวไทยสามารถแจ้งความเอาผิดนายกรัฐมนตรี และหรือ ผอ.ศบค. ตามปอ.ม.157 ได้ทันที.-สำนักข่าวไทย