บมจ.อสมท 2 ก.ค.-คณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ หารือผู้บริหาร อสมท ร่วมหาแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศและส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค นำคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมประชุมกับนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และผู้บริหาร วันนี้ (2ก.ค.) ที่ บมจ.อสมท เพื่อหารือในประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ และติดตามประเด็นการปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนและแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ
นายสมชาย กล่าวว่า การมา อสมท วันนี้เพื่อให้กำลังใจผู้บริหารและพนักงานของ อสมท ในช่วงเวลาที่วงการสื่อกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่ค่อนข้างยากลำบาก โดยมองว่าถ้าว่าสื่อมวลชนยังคงยึดมั่นในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม หรือประชาชนอย่างแท้จริง สื่อนั้นๆ ก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ รวมทั้งหารือแนวทางในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน และร่วมหาทางผลักดันการปฏิรูปสื่อให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการ ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ พร้อมๆ กับการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะสื่อหลัก เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับ Fake news ที่มีความรุนแรงมากขึ้นและเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและมีอิทธิพลให้ประชาชนหลงเชื่อ
ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ.อสมท ซึ่งมีสื่อทั้ง สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อดิจิทัล ในแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ผ่านการกลั่นกรองตรวจสอบก่อนนำเสนอทำให้ข้อมูล ที่นำเสนอในสื่อของ บมจ.อสมท ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมายาวนาน ในปี 2563 ซึ่งวงการสื่อเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งข่าวปลอม หรือ Fake news
บมจ.อสมท จึงได้เร่งรัดดำเนินการผลิตสื่อคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น เช่น เน้นดำเนินธุรกิจตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ,บริหารจัดการองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรเพิ่มสำนักธุรกิจในโครงสร้าง เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ๆ ,เปิดตัวธุรกิจใหม่ ร่วมกับพันธมิตรภายนอก และการขยายงานด้านการป้องกันข่าวปลอมโดย “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งได้ผลิตรายการและออกอากาศในข่าวภาคค่ำ มาตั้งแต่ปี2558 ทำหน้าที่ตรวจสอบ คอยเฝ้าระวังข้อมูลที่มีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ที่เป็นประเด็นกระทบต่อสุขภาพและความเข้าใจของประชาชน ที่ผ่านมามีการตรวจสอบและปรับอากาศแล้วประมาณ 1,400 คลิปวิดีโอ
ขณะเดียวกันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการนำดารา พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ มาให้ข้อมูลและนำเสนอข่าวในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน จัดรายการพิเศษและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ในแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งให้ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์มาเน้นเกี่ยวกับโควิดมากขึ้น เช่น ประเด็นความเข้าใจเรื่องหน้ากากอนามัย การป้องกันคนเองจากโรค เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย