กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรหนุนแนวคิดการปรับสารชีวภัณฑ์จากบัญชีวัตุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1 ให้เกษตรกรผลิตได้โดยแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต ย้ำทำได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานนำเสนอและรับปฏิบัติ
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวคิดจะปรับสารชีวภัณฑ์ ซึ่งสกัดจากธรรมชาติในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.1) มาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยระบุว่า เป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยมาพัฒนาสารชีวภัณฑ์ โดยไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติไล่แมลงและจุลชีพบางชนิดสามารถป้องกันและกำจัดโรคพืชบางโรคได้
สำหรับแนวทางการดำเนินการดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เสนอข้อมูลตามหลักการ คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาระดับความเป็นพิษของวัตถุดิบที่นำมาผลิตและกระบวนการผลิต ซึ่งต้องไม่ใช้กระบวนการทางเคมี เช่น หากนำสะเดามาคั้นน้ำ เพื่อใช้ไล่แมลงก็สามารถปรับมาเป็นบัญชีชนิด วอ.1 ได้ แต่หากนำไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์สมควรอยู่ในบัญชีชนิด วอ.2 เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติปรับบัญชีสารชีวภัณฑ์ใด จะมีผลบังคับใช้เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่รับปฏิบัติ
นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ปรับสารชีวภัณฑ์ใดให้อยู่ในบัญชี วอ.1 แล้วมีผู้ประสงค์ผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องมาแจ้งข้อเท็จจริงหรือจดแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะให้คำแนะนำเรื่องการติดฉลาก โดยระบุรายละเอียดถึงวัตถุดิบและกระบวนการผลิต วิธีและอัตราการใช้ ที่สำคัญ คือ วัตถุประสงค์การใช้ต้องเฉพาะเจาะจง เช่น ใช้ไล่หรือกำจัดแมลงชนิดใด ข้อที่เป็นห่วงคือ เกรงจะมีผู้ผลิตที่นำสารเคมีกำจัดแมลงมาผสมเหมือนกรณีที่ผู้ผลิตสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชนำพาราควอตมาผสมจำหน่าย ซึ่งเป็นการหลอกลวงเกษตรกร เพราะสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชได้ยังไม่มี สำหรับการผลิตจุลชีพมากำจัดโรคพืชนั้น ต้องพิจารณาผลข้างเคียง หากก่อให้เกิดการแพ้ได้ ต้องระบุในฉลากด้วย ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรต้องควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ
“งานวิจัยจำนวนมากพบว่าสมุนไพรไทยหลายชนิดมีคุณสมบัติไล่แมลงได้ แต่ต้องพิจารณาระดับความเป็นพิษ โดยสะเดา พริก ตะไคร้ ดาวเรือง เป็นต้น ไม่อันตราย แต่โล่ติ๊นนั้นพิษรุนแรง จึงสมควรให้อยู่ใน วอ.2 ย้ำว่าปรับบัญชีสารชีวภัณฑ์ทำได้ แต่ต้องพิจารณาด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้” นายอดิศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย