รร.เอเชีย 22 พ.ย. – อุตสาหกรรมเกษตรจับมือคัดค้านแบน 3 สารเคมี ชี้โรงงานอ้อยและน้ำตาล 57 แห่ง อาจปิดตัว เกษตรกรตกงาน 1.2 ล้านคน เสียหายรวม 3 แสนล้านบาท
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและที่ปรึกษาสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบจากการแบน 3 สาร คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ว่า ควรมีการทบทวนให้ยกเลิกการแบน 3 สาร เพราะจะเกิดผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด
นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ไทยเป็นประเทศผลิตอ้อยเป็นอันดับ 3 และส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อย 134 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ การแบนสารเคมีพาราควอตจะทำให้ผลผลิตลดลง 20-50% ปริมาณอ้อยหายไปประมาณ 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้กว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีส่วนใบอ้อยและยอดอ้อยที่ใช้ในโรงงงานชีวมวลจะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7,400 ล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียรายได้ 58,000 ล้านบาท รวมทั้งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เสียหายรวมทั้งหมดประมาณ 300,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกร 1.2 ล้านคนอาจจะต้องตกงาน โรงงานน้ำตาล 57 โรงงาน อาจจะต้องเลิกกิจการไปในที่สุด
นายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ไทยผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารเคมี 3 สารนี้ในการจัดการแปลง หากเกษตรกรไม่สามารถใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ได้ รัฐบาลต้องหาสารมาทดแทนที่เหมาะสมทั้งประสิทธิภาพและต้นทุน ซึ่งจะส่งผลไปยังการทำเกษตรอื่น ๆ ด้วย เพราะจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ใช้ จึงอยากให้ชะลอการแบน 3 สารนี้ออกไปก่อน.-สำนักข่าวไทย