กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – รมช.เกษตรฯ เร่งรัดกรมวิชาการเกษตรจัดทำร่างกฎหมายปรับสารชีวภัณฑ์สกัดจากสมุนไพรสำหรับกำจัดศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้เป็นชนิดที่ 1 เพื่อจะได้ใช้ในไร่นาได้ โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ย้ำจัดทำร่างกฎหมายให้เสร็จใน 1 เดือน เพื่อส่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับนางสาวอิงอร ปัญจากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมอบหมายให้เร่งกฎหมายเพื่อปรับสารสกัดจากสมุนไพรมาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 สำหรับพืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก โดยระหว่างนี้แม้จะยังอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 แต่ผ่อนปรนให้เกษตรกรผลิตใช้ได้เองในไร่นา แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากการผลิตเพื่อจำหน่ายต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร
น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า ให้กรมวิชาการเกษตรจัดเตรียมรายละเอียดของร่างกฎหมายให้เสร็จใน 1 เดือนที่จะต้องระบุว่า การสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรดังกล่าวนั้น จะต้องใช้วิธีการใด จึงจะสามารถปรับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้ โดยอาจต้องระบุว่า ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น การหมัก การตากแห้งแล้วบดเป็นผง เพื่อนำมาใช้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรนั้น สมควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ได้ เมื่อจัดทำร่างกฎหมายแล้วจะนำเสนอเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมพิจารณาต่อไป
นักวิชาการเกษตร ระบุว่า จากงานวิจัยหลายชิ้น พืชสมุนไพรต่าง ๆ นั้นมีคุณสมบัติไล่แมลงได้ แต่ที่กำจัดวัชพืชได้พบอยู่เพียงชนิดเดียวคือ สาร Cineon (ซีนีออน) ซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากยูคาลิปตัส แต่กระบวนการสกัดยังมีมูลค่าสูง หากจะนำมาใช้กำจัดวัชพืชต้องพิจารณาถึงความคุ้มทุนในการทำเกษตรกรรม มีผู้ผลิตบางรายอ้างว่า ใช้สารซีนีออนจากยูคาลิปตัสมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ซึ่งสารวัตรเกษตรเคยจับกุม เนื่องจากพบว่าปลอมปนสารเคมีกำจัดวัชพืชไปด้วย ขณะนี้ยังมีผู้ผลิตที่โฆษณาตามเว็บเพจต่าง ๆ ซึ่งจะมีการนำตัวอย่างมาตรวจ หากพบการปลอมปนสารเคมีจะจับกุมดำเนินคดี
น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรเพื่อกำจัดศัตรูพืชเป็นแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันการหลอกลวงเกษตรกรด้วยการนำสารปลอมปนมาจำหน่ายแล้วอ้างว่าเป็นสารชีวภัณฑ์ เมื่อเกษตรกรผลิตเองได้ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตรจะทำให้ไม่ต้องไปซื้อทั้งสารเคมีหรือสารชีวภัณฑ์ปลอมปนมาใช้ รวมทั้งยังเป็นการขยายการทำเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์มีมูลค่าสูง อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย