26 มิ.ย.-นายกฯ ย้ำในเวทีอาเซียนผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ส่งเสริมความร่วมมืออย่างยั่งยืน 3 ระยะ “ตอบสนอง ฟื้นตัว ยืดหยุ่น”
26 มิถุนายน 2563 เวลา 17.35 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในการพบหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล
นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมกล่าวเปิดการประชุม โดยแสดงความห่วงใยต่อความสูญเสียของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ พร้อมย้ำความสำคัญของภาคเอกชนในการบรรลุเป้าหมายของประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนในการก้าวข้ามความท้าทายจากโควิด-19 โดยคงไว้ซึ่งการเปิดกว้างของตลาดเสรีและสร้างความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างกัน เพื่อสร้างความเป็นดีอยู่ดีให้กับประชาชน และขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงวิกฤติโควิด – 19 ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญที่ทั่วโลกได้เผชิญร่วมกันในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ ความปลอดภัย และระบบเศรษฐกิจการค้าอย่างรุนแรง ทุกประเทศจำเป็นต้องรักษาสมดุลของการสาธารณสุขและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจควบคู่กันเพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งอาเซียนถือเป็นห่วงโซ่การผลิตสำคัญของโลก รวมทั้งยินดีกับข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่ผลักดันกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนให้คณะกรรมการที่ปรึกษาธุรกิจพิเศษทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานในเรื่องโควิด-19 เพื่อความเป็นเอกภาพ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ในการรับมือกับโควิด-19 ควรส่งเสริมความร่วมมืออย่างยั่งยืนใน 3 ระยะ หรือ 3R ได้แก่
1. “Responsiveness-ตอบสนอง” การตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและรักษาความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งหารือเชิงรุกกับประเทศสมาชิกอาเซียน
2. “Recovery-ฟื้นตัว” การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรง รักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้า การลงทุน ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ และเพิ่มความตกลงกับประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
3. “Resilience-ยืดหยุ่น” การยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนขับเคลื่อนได้อย่างเข็มแข็งและยั่งยืน เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดอีกครั้ง ตลอดจนเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญของโลก.-สำนักข่าวไทย