กรุงเทพฯ 25 มิ.ย. – กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์งบการเงินผิดปกติ หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอย พบสหกรณ์ออมทรัพย์ 4 แห่งมีความเสี่ยง สั่งแก้ไขเร่งรัดหนี้สินและตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ 87 แห่ง นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบบัญชีสหกรณ์ โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่สมาชิกสหกรณ์ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากสหกรณ์มีรูปแบบการบริหารแตกต่างจากบริษัทตรงที่ผู้บริหารสหกรณ์อาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นจำนวนมาก แต่ผู้บริหารสหกรณ์มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการทั้งหมดรวม 15 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี ต่อเนื่องไม่เกิน 2 ครั้ง ดังนั้น การบริหารงานสหกรณ์จึงเป็นแบบไม่ต่อเนื่อง การสอบบัญชีสหกรณ์จึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้สมาชิกที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมและไม่มีโอกาสอ่านงบการเงินได้รับความเป็นธรรม ผลการสอบบัญชีจะทราบว่า ฐานะที่แท้จริงของสหกรณ์เป็นอย่างไร และบริหารจัดการเงินอย่างเหมาะสมหรือไม่
นายโอภาส กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของสหกรณ์ยังเป็นสหกรณ์ประเภททุนหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการออมและการกู้ยืม สมาชิกจะต้องติดตามรายงานการสอบบัญชีวันสิ้นปีบัญชี ซึ่งส่วนใหญ่จะแถลงวันประชุมใหญ่ประจำปีของแต่ละสหกรณ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการงบดุล สามารถสอบถามจากผู้สอบบัญชีของแต่ละสหกรณ์ที่จะเข้าชี้แจงในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วยทุกครั้ง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะผู้ตรวจการสหกรณ์ ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธาน ได้ตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อมูลว่าเสี่ยงที่จะดำเนินงานผิดวัตถุประสงค์หรือทุจริต ตามข้อสั่งการของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพิจารณาจากงบการเงิน ดุลทางบัญชี การนำเงินไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่มากผิดปกติ ตลอดจนการใช้เงินไปทำธุรกรรมที่มีระเบียบห้ามสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีประมาณ 1,200 สหกรณ์ ขณะนี้พบสหกรณ์ที่มีความผิดปกติ 4 สหกรณ์ สั่งให้เร่งรัดหนี้สินซึ่งผิดนัดชำระ เพื่อเรียกเงินคืน ส่วนกรณีที่พบหนี้เสีย (NPL) ให้ผู้บริหารสหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน เพื่อให้งบดุลของสหกรณ์นั้น ๆ มีความถูกต้อง สมาชิกได้รับทราบสถานะของสหกรณ์ที่สังกัด รวมทั้งหากมีปัญหาจะได้กำหนดแนวทางแก้ไขได้ทัน ก่อนเกิดความเสียหายร้ายแรง.-สำนักข่าวไทย