ภูมิภาค 20 มิ.ย.- รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจบ้านหลุยส์ ขอให้หยุดการซ่อมแซมชั่วคราว เพื่อขอพิจารณาแบบร่วมกันอีกครั้ง ขณะที่ชุมชนขอกรมศิลป์พิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ไม่อยากให้งานซ่อมแซมล่าช้า จะเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว
นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เข้าตรวจสอบ “บ้านหลุยส์” อายุกว่า 114 ปี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยมีผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง และตัวแทนชาวบ้านในชุมชนท่ามะโอ ร่วมเข้าให้ข้อมูลและสอบถามถึงการดำเนินงานต่างๆ ต่อจากนี้
นายอรุณศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีหนังสือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหยุดการซ่อมแซมไว้ชั่วคราว ส่วนแนวทางอนุรักษ์นั้นจริงๆ จะต้องพยายามใช้วัสดุรูปแบบเหมือนเดิม แต่หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยน ด้วยเหตุที่ไม่มีการทำแล้ว หรืออื่นๆ ก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่ให้เหมาะสมกับของเดิมมากที่สุด แต่เบื้องต้นต้องขอให้คลุมหลังคาอาคารบ้านหลุยส์ไว้ก่อน เพราะหน้าฝนจะทำให้ไม้พื้นหรือส่วนอื่นในอาคารเสียหายเพิ่มขึ้น
ส่วนชุมชนบ้านท่ามะโอที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และซ่อมแซมบ้านหลุยส์ ยังคงต้องการให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อ เพราะการซ่อมแซมบ้านหลุยส์ไม่เหมือนที่จังหวัดแพร่ แต่ด้วยสภาพของบ้านที่เก่าแก่และสภาพทรุดโทรมมาก หากปล่อยไว้ก็จะเกิดความเสียหายเกินเยียวยา ซึ่งการซ่อมแซมครั้งนี้เน้นไปที่การเสริมโครงสร้างอาคารให้แข็งแรงขึ้น ส่วนในรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนอยากให้มาคุยกันอีกครั้ง หลังจากการเสริมโครงสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่งในการบูรณะส่วนอื่นๆ ต่อไป และไม่อยากให้ต้องหยุดชะงักเป็นเวลานาน เพราะบ้านหลุยส์กลายเป็นสถานที่ท่องที่ยวชุมชนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้เสียโอกาศด้านการท่องเที่ยวได้
ส่วนกรณีการรื้ออาคารเก่าแก่ “บอมเบย์เบอร์มา” อายุ 131 ปี ในจังหวัดแพร่ ที่ถูกทุบทิ้งไปแล้ว จนสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ วันนี้ นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังลงไปตรวจสอบ บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ สถานที่ตั้งของอาคารเก่าศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ หรืออาคารบอมเบย์เบอร์มาในอดีต ที่มีการรื้อถอนไปแล้ว ตามโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทรุดโทรมตามสภาพอายุ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เป็นผู้ดำเนินงาน
โดยมีชาวจังหวัดแพร่ 20 คนเข้ารับฟัง ซึ่งทางรองอธิบดีฯ ระบุว่า การมาตรวจสอบในครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบว่า กรมศิลปากรจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพราะที่ผ่านมาได้รับฟังและเห็นจากรูปภาพ จากนี้ไปก็จะเร่งทำการออกแบบและตรวจสอบความเป็นไปได้ทั้งหมดว่าควรจะทำอย่างไร ต้องใช้เวลาศึกษา เพราะสถานที่แห่งนี้จริงๆ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ ชาวบ้านบางส่วนจะรวมตัวกันนำหลักฐานทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้เอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในขบวนการจัดโครงการจัดงบประมาณ คนเสนอ คนเห็นชอบ คนอนุมัติ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการรื้อการถอน แม้แต่การสร้างห้องน้ำ ทั้งสถานที่ราคา อีกทั้งการจัดการเรื่องของการรื้อถอนก็ทำไม่ถูกต้องตามหลักการ โดยจะขอให้กำหนดเวลาในการสอบสวนให้เสร็จภายใน 30 วัน
ขณะที่การรื้ออาคารเก่าแก่บอมเบย์เบอมาร์ อายุ 131 ปี ไปแล้วนั้น ในจังหวัดแพร่ยังมีบ้านไม้เก่าแก่ ควรค่าแก่การอนุรักษ์อีกหลายแห่ง ที่ยังไม่ถูกรื้อ เนื่องจากยังมีผู้พักอาศัย และใช้เป็นสถานที่ทำงานของหน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ เช่น
• สถานีรถไฟบ้านปิน เป็นสถานีรถไฟแห่งแรก และแห่งเดียวในไทย ที่สร้างด้วยสไตล์บาวาเรียน เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในแคว้นบาวาเรียนของเยอรมัน และการที่เมืองแพร่เป็นพื้นที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุด ทำให้เกิดแนวคิดในการออกแบบสถานีแห่งนี้ด้วยสไตล์ดังกล่าว โดยใช้ไม้เป็นหลัก
• คุ้มวิชัยราชา สร้างโดยเจ้าหนานขัติ หรือพระวิชัยราชา สันนิษฐานสร้างก่อนปี 2434 มีช่างฝีมือชาวจีนกวางตุ้ง ที่หนีการสร้างทางรถไฟสายเหนือช่วงกันดารมาอยู่แพร่ เป็นหัวแรงสำคัญ มีลักษณะบ้านอาคาร 2 ชั้น สร้างแบบสถาปัตยกรรมขนมปังขิง ด้วยไม้สักทั้งหลัก ประดับลายฉลุ สวยงาม
• อาคารน้ำเพชร โรงเรียนนารีรัตน์ ตั้งอยู่ตรงข้ามคุ้มเจ้าหลวง เป็นอาคารไม้เก่าแก่เช่นกัน
• บ้านวงศ์พระถาง ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง ซึ่งเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญในอดีต เป็นของพ่อเจ้าเสาร์ วงศ์พระถาง ซึ่งเป็นน้องชายหลวงพิบูลย์ บุตรเขยของแม่เจ้าบัวถา เจ้าของบ้านวงศ์บุรี ปัจจุบันยังมีลูกหลานของท่านอาศัยอยู่ และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
• บ้านพักรับรองของหลวงศรีนครานุกูล เป็นบ้านคหบดีชาวจีน ฐานะมีการสร้างบ้านตากอากาศไว้ หลายหลัง โดยหลังนี้สร้างขึ้น ก่อนปี 2462 เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัก หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีมุขยื่นออมาตรงกลางอาคาร ตัวอาคาร ทาด้วยสีครีม ชมพู และน้ำตาล
• ที่ทำการโรงเรียนป่าไม้ อาคารหลังที่ 2 เดิมเป็นอาคารที่ทำการบริษัทอีสต์ เอเชียติก และภายหลังใช้เป็นที่ทำการของโรงเรียนป่าไม้.-สำนักข่าวไทย