รัฐสภา 11 มิ.ย.- ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาญัตติด่วนตั้งกมธ.วิสามัญติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส.ส.ส่วนใหญ่ สนับสนุนให้ตั้ง กมธ.
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วนเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันเสนอญัตติด่วนที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 7 ญัตติ ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.)
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า ตนและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันเสนอญัตติด่วนดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการกู้เงินจาก พ.ร.ก.มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งได้มีการอภิปรายกันมากมายระหว่างการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ขณะนั้นมีความไม่ชัดเจนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การกู้เงินของประเทศไทย ขณะเดียวกัน หลายคนเข้าใจผิดว่า กรรมาธิการชุดนี้จะมีอำนาจเหมือนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งที่กรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามการใช้เงินกู้นี้จะไม่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการ เพราะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการใช้เงินกู้นี้มีอำนาจตรวจสอบว่า มีการเสนอและอนุมัติตรงตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตนขอบคุณความใจกว้างที่ยอมรับให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ และทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลสนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งกรรมาธิการชุดนี้ มีความจำเป็นมาก ข้อสังเกตที่มีการอภิปรายในชั้นอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน ทำให้เกิดความกังวลและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความไม่ชอบมาพากลมากขึ้น ทำให้กรรมาธิการชุดนี้อาจจะทำงานหนักมากและหนักกว่ากรรมาธิการงบประมาณเสียอีก
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ระยะเวลาเสนอโครงการตาม พ.ร.ก.กู้เงินนั้นสั้นมาก อีกทั้งยังมีการเสนอโครงการตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาทมาจำนวนมาก ล่าสุดเสนอมา 3,000 กว่าโครงการ ในวงเงิน 780,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินอย่างมาก
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย หนึ่งในผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า พวกตนตั้งใจยื่นญัตติด่วนเพื่อให้สภาร่วมกันพิจารณา และตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบว่าเงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการใช้จ่ายเงินอย่างไร ซึ่งหลังจากที่สภาฯพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน ตนได้ติดตามและฟังการอภิปรายของสมาชิกที่นำเสียงสะท้อนของประชาชนมาอภิปรายผ่านเวทีสภาฯ ทุกคนล้วนเป็นห่วงว่า หากจะต้องกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่แทบไม่มีรายละเอียดโครงการที่จะใช้เงิน จึงกังวลว่าจะใช้เงินตามวัตถุประสงค์และถึงมือประชาชน ตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่
ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า วงเงินสูงกว่า 1.9 ล้านล้านบาท มีความเสี่ยงอาจทำให้หนี้สาธารณะสูงชนเพดานเกินกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพี แต่ไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาติดตามตรวจสอบไปจนสิ้นสุดกรอบเวลากู้เงินถึงเดือนกันยายน 2564 เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า และการออกมาตรการที่เข้าถึงประชาชน ตอบโจทย์สถานการณ์โควิด-19 ไม่ซ้ำกับโครงการปกติ
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตสอดคล้องกันว่าการใช้เงินกู้ขาดรายละเอียดแผนงานที่จะเอางบประมาณไปใช้ ส่วนนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ และควรให้ภาควิชาการและมหาวิทยาลัยเข้าร่วมตรวจสอบ.-สำนักข่าวไทย