ทำเนียบฯ 10 มิ.ย.-“วิษณุ” ระบุฝ่ายความมั่นคงเสนอทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วันทำได้ แต่ต้องหารือทีมแพทย์ก่อน ย้ำต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ที่ความเหมาะสม ไม่มีใครได้ประโยชน์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เสนอให้พิจารณาทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-30 มิถุนายน 2563 นั้น ส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดมาก่อน แต่เมื่อได้ข้อสรุปจากการประชุมฯ วันนี้แล้วจะรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ทราบพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อยู่แล้วในทางกฏหมาย แต่ในทางสาธารณสุขต้องปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ส่วนข้อเสนอให้เปิดสนามมวยแต่ไม่มีผู้ชม ใช้วิธีถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์แทนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่คณะกรรมการฯ พิจารณาตามความเหมาะสม
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า หากยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีกฏหมายปกติเข้ามาดูแลสถานการณ์แทน ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อที่เป็นกฏหมาย
“หลักในการทำงาน รวมถึง พ.ร.บ.การเดินอากาศ และ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกฏหมายเหล่านี้ถูกใช้ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือตั้งแต่ 13 มกราคม ที่พบผู้ป่วยคนแรกในไทย ดังนั้นหากยกเลิกก็กลับมาใช้กฏหมายเหล่านี้ แต่ยอมรับว่ามีช่องโหว่ทางกฏหมายอยู่ จึงต้องเรียนรู้และแก้ไขปัญหา แต่ทั้งนี้หากจะใช้มติ ครม. ก็จะทำได้เพียงการบูรณาการเชื่อมการทำงานระหว่างจังหวัดเท่านั้น แต่จะใช้ในการกำหนดมาตราการหนัก เช่น การประกาศเคอร์ฟิวไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เคยอธิบายมาหลายครั้งแล้วว่าแนวทางสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มี 3 แนวทางหลัก ๆ คือ 1.การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ 2.ยกเลิกการประกาศใช้ และ 3.คงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ แต่ผ่อนคลายมาตรการหลายอย่างภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น เคอร์ฟิว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการพิจารณายกเลิก หรือ คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นหลัก เพราะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์
“ไม่ต้องกังวลกับเรื่องดังกล่าว เพราะหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก ก็ประกาศใช้ใหม่ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร และยืนยันว่าไม่มีกฏหมายพิเศษอื่นที่จะมาดูแลสถานการณ์ในขณะนี้ได้ เพราะกฏหมายพิเศษอื่น ๆ เช่น การประกาศกฏอัยการศึก หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเท่านั้น” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย