กทม. 8 มิ.ย. – อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด แนะนำป้องกันการถูกยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ว่า ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ทุกช่วง ตั้งแต่ก่อนถูกฟ้อง ระหว่างถูกฟ้อง หรือแม้แต่ขั้นตอนถูกยึดทรัพย์ เพราะถ้าปล่อยให้ถึงขั้นตอนการยึดทรัพย์ เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ยื่นขอให้เจ้าบังคับคดียึดทรัพย์มูลค่าเท่าใดก็ได้มาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้
สุรีพร ศรีทอง ชาวตำบลศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพิ่งสูญเสียบ้านพร้อมที่ดิน 4 ไร่ จากการถูกบังคับคดีนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขายทอดตลาดชำระหนี้ ที่เกิดจากการซื้อโทรศัพท์มือถือราคา 27,486 บาท จากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในพิษณุโลก
สุรีพร บอกว่า เธอซื้อโทรศัพท์เงินผ่อนตอนปี 2559 ดาวน์ 8,500 บาท ดอกเบี้ย 15% ผ่อน 18 งวด งวดละ 1,496 บาท แต่ผ่อนได้ 2 เดือน ก็ผ่อนต่อไม่ไหว เพราะเธอขายอาหารปิ้งย่างไม่ดี
ระหว่างนั้นมีโทรศัพท์ติดตามทวงหนี้บ้าง แต่เงียบหายไป ต่อมาทราบจากผู้เป็นพ่อว่ามีคนนำเอาเอกสารไปให้เซ็นที่บ้านพรหมพิรามหลายครั้ง ไม่รู้เป็นเอกสารอะไรบ้าง เธอยอมรับไม่ได้สนใจ คิดว่าคงจะมีปัญหาแค่ในระบบเครดิตบูโรเท่านั้น กระทั่ง 15 พฤษภาคม มีคนแปลกหน้าเดินทางไปที่บ้าน แล้วบอกพ่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินคนใหม่ เพราะชนะการประมูลจากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีพิษณุโลก
วุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้คำแนะนำป้องกันการถูกยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้เหมือนที่เกิดขึ้นกับสุรีพรว่า ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ทุกช่วง ตั้งแต่ก่อนถูกฟ้อง ระหว่างถูกฟ้อง หรือแม้แต่ขั้นตอนถูกยึดทรัพย์แล้ว ก่อนฟ้องเจ้าหน้าที่มักมีหนังสือเตือนให้พยายามติดต่อขอเจรจาขอปรับปรุงยอดหนี้ หรือวิธีการชำระได้
แต่ถ้าล่วงเลยจนถูกฟ้องในชั้นศาล ให้ไปศาลตามกำหนดนัดทุกนัด นำเอกสารทุกอย่างที่เก็บไว้ เช่น สัญญาเช่าซื้อ ใบผ่อนชำระหนี้งวดต่างๆ ตรวจสอบต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ว่าถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อขอปรับปรุงยอดหนี้ ปรับลดเงินที่ต้องส่งในแต่ละงวด ปรับแต่งจำนวนงวด หรือวิธีการชำระหนี้ รวมถึงการเจรจาขอลดดอกเบี้ยได้
หากเลยชั้นศาลไปถึงชั้นบังคับคดี ลูกหนี้ยังคงเจรจากับเจ้าหนี้ได้เช่นกัน เพียงแต่อำนาจต่อรองอาจลดลง เพราะพร้อมบังคับคดีแล้ว และเจ้าหนี้มีต้นทุนค่าดำเนินคดีในศาลเพิ่มขึ้นมา
ถ้าหากไม่ได้เจรจาในทุกขั้นตอนที่ผ่านมา ลูกหนี้สามารถเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ แต่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ ส่วนการบังคับคดียึดทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงอย่างบ้านและที่ดินเพื่อมาชำระหนี้เพียงหลักหมื่นบาท อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า แม้จะฟ้องกันเพียงหลักไม่กี่บาท จนถึงหลักล้าน เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์ใดก็ได้มาขายชำระหนี้ แต่ในทางปฏิบัติมักจะไม่ยึดทรัพย์เกินมูลค่าหนี้มากเกินไป เว้นแต่ไม่มีทรัพย์อื่นให้ยึดแล้ว
กรณีของสุรีพรซึ่งถูกบังคับคดียึดที่ดิน 4 ไร่ พร้อมบ้าน 3 หลัง เป็นบ้านของพ่อ พี่ชาย และตัวเธอเอง ซึ่งมีชื่อร่วมกัน 3 คนในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว หลุดไปเป็นของคนอื่นแล้ว การขอซื้อคืน เจ้าของรายใหม่พร้อมขายราคาไร่ละ 400,000 บาท รวม 4 ไร่ 1.6 ล้านบาท เธอจึงร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมพิษณุโลก เพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ยขอซื้อที่ดินคืนในราคาที่ไม่แพงเกินไป ซึ่งเจ้าของรายใหม่ประมูลได้ไปในราคา 530,000 บาท . – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
► เปิดใจลูกหนี้ผ่อนมือถือค้างชำระ ถูกยึดที่ดินมรดก 4 ไร่