รัฐสภา 1 มิ.ย.-“อุตตม”แจงความจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ส.ว.ส่วนใหญ่แนะแผนใช้เงินต้องชัดเจน โปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (1มิ.ย.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แทนรัฐบาล ชี้แจงหลักการและวัตถุประสงค์ของการออกพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อรับมือ ป้องกันและเยียวยาจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด 19 โดยยืนยันว่ารัฐบาลกำหนดหลักการให้ สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลัง และให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการที่เกิดขึ้น โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พระราชกำหนดดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประเทศ ทำให้รัฐบาลมีทรัพยากรในการดำเนินการด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีกลไกในการเยียวยา รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนและเกษตรกรในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินเสริมสภาพคล่องในต้นทุนต่ำ เพื่อบรรเทาภาระหนี้ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อ โดยยังคงรักษาสภาพการจ้างงานได้
“ส่วนกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF ซึ่งเป็นหนึ่งในนิติบุคคลที่เกิดขึ้นจาก 1ใน 3 พระราชกำหนด จะเป็นกลไกเชิงป้องกันของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษามูลค่าเงินออมของประชาชน ดังนั้น การตราพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับจะเป็นการรักษาศักยภาพเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไว้ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดคลี่คลายดีขึ้น และยังเป็นการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ และความพร้อมของทรัพยากรบุคคลที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองของเครื่องจักรให้พร้อมก้าวไปในโลกหลังโควิ-19 ซึ่งจะเป็นโลกที่มีความปกติใหม่ หรือ New Normal” นายอุตตม กล่าว
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ฟังการอภิปรายของของสมาชิก เพราะการกู้เงินครั้งนี้จำนวนมาก คงไม่มีอะไรสำคัญกว่าพระราชกำหนดแล้ว สมาชิกมีข้อสังเกตที่สำคัญที่ต้องการถ่ายทอดให้รัฐบาลนำไปปรับใช้ ซึ่งนายอุตตมไม่ได้ขัดข้อง
การประชุมวันนี้(1 มิ.ย.) สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายอย่างกว้างขวางส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว โดยนายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความโปร่งใส พร้อมเสนอให้ดึงภาคเอกชน ประชาชนมาร่วมตรวจสอบ ให้ทุกส่วนราชการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงแก้ปัญหาโควิด-19
ทางด้าน นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กล่าวว่า การควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคประชาชน แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดแผนการดำเนินงานไม่มีความชัดเจน เกรงว่าหน่วยงานปฏิบัติจะใช้จ่ายงบประมาณไม่รอบคอบ ทำโครงการที่เป็นภารกิจผูกพัน จึงควรกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินให้ชัดเจน
นายบุญมี สุระโคตร และนายระวี รุ่งเรือง เสนอให้รัฐบาลเร่งวางมาตรการการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นกลุ่มอาชีพที่ใหญ่ที่สุด ผลกระทบจึงเป็นวงกว้าง ขาดรายได้ ผลผลิตไม่สามารถส่งออก การแปรรูปผลิตภัณฑ์เกิดการชะลอตัว หากไม่เร่งแก้ไขเกรงว่าจะกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันในระดับพื้นที่ต้องเร่งจัดหาบ่อน้ำบาดาลให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว หลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ประชาชนจะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
นายตวง อันทะไชย อภิปรายว่า ประเทศยังมีปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจทั้งด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุขที่ยังไม่ทั่วถึง เพราะหากกระจายอำนานจะสามารถแก้วิกฤติต่าง ๆ ได้ พร้อมเสนอแนวทางการใช้เงินกู้จำนวน 4 แสนล้านบาทต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ห้ามข้าราชการเข้าไปควบคุม ครอบงำเงินจำนวนนี้ เพราะข้าราชการเป็นเพียงผู้อำนายความสะดวกให้กับประชาชน โครงการต้องมาจากชุมชนเท่านั้น รัฐบาลต้องใช้กลไกสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน และต้องให้ธนาคารของรัฐร่วมสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพที่ประสบความสำเร็จให้กับตนเองและครอบครัวเพื่อความยั่งยืน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวว่า ไม่ค่อยมั่นใจเรื่องการตั้งกรรมาธิการเพื่อติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะฝ่ายที่เข้าไปตรวจสอบคือรัฐบาลเอง ซึ่งสายวุฒิสภาน่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบได้ดีกว่า และจะช่วยรัฐบาลอีกทางหนึ่งเพราะมีงานมาก อาจทำอะไรไม่ทั่วถึง พร้อมแนะใช้เงินกู้ไปในแนวทางที่สร้างต้นทุนและสามารถต่อยอด ไม่ใช่การแจกเงินอย่างเดียว อยากให้รัฐบาลใช้วิกฤติเป็นโอกาส นอกจากช่วยเหลือประชาชนแล้ว เช่น แจกเมล็ดพันธุ์พืชหรือสัตว์ให้ไปปลูกและเลี้ยง เพื่อให้ต่อยอดเป็นรายได้ประเทศ ตอบโจทย์ให้ไทยเป็นครัวของโลก
“ส่วนเงินเยียวยาพระสงฆ์รูปละ 60 บาทต่อวัน ควรเป็น 100 บาท รวมทั้งสนับสนุนให้จัดสรรงบประมาณให้สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของทุกศาสนา ตั้งโรงทานเป็นโรงอาหารถาวรช่วยผู้ยากไร้ในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน และเปิดช่องให้ระบบราชการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย” นายเสรี กล่าว
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อภิปรายว่า การเบิกจ่ายงบประมาณ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 และมาตรการเบิกจ่ายเงินต้องชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันช่องว่างในการนำงบประมาณใช้กับโครงการที่ไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมต้องดำเนินการควบคู่กัน มาตรการเยียวยาในเขตเมืองและชนบทต้องเท่าเทียม
ขณะที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาพระสงฆ์จากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงทั้งในและทั่วโลก ทำให้มหาเถรสมาคมสั่งการทุกวัดงดการจัดกิจกรรมทางศาสนาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มส่งผลให้วัดขาดปัจจัยที่จะต้องใช้จ่ายภายในวัด กรณีเงินเยียวยาพระรูปละ 60 บาทต่อวันเป็นแนวคิดมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2552 เยียวยาพระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้จากเหตุการณ์ความไม่สงบรูปละ 100 บาทต่อวัน
“ขณะนั้นคณะรัฐมนตรีมีกรอบยะเวลาการเยียวยาเพียง 20 วัน แตกต่างจากในครั้งนี้ ที่แม้จะเยียวยาพระสงฆ์รูปละ 60 บาทแต่มีระยะเวลาถึง 3 เดือน รวมเป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกส่งไปให้วัด เพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของวัดเองต่อไป” นายเทวัญ กล่าว.-สำนักข่าวไทย