ทำเนียบรัฐบาล 28 ก.ย.- รองโฆษกรัฐบาล เผย คณะกรรมการประเมินการใช้จ่ายเงินกู้ เผย 19 โครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจ 2.65 ล้านล้านบาท เกิดความคุ้มค่า 3.24 เท่า
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามประเมินผลของโครงการ แผนงานตาม พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และข้อเสนอแนะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุก 6 เดือน โดยมีคณะกรรมการประเมินการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) กระทรวงการคลัง ดำเนินการประเมิน
โดยในการประชุม ครม.เมื่อวานนี้( 27 ก.ย.) คปก. ได้รายงานผลประเมินครั้งที่ 1 คัดเลือกโครงการที่มีขนาดใหญ่ กระจายทั่วประเทศ รวม 19 โครงการ วงเงินดำเนินการรวม 8.05 แสนล้านบาท เทียบกับพ.ร.ก.กู้เงิน พ.ศ.2563 ที่มีวงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการประเมินระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. 65 พบว่าทั้ง 19 โครงการ มีผลการเบิกจ่ายรวม 7.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.84 ของวงเงินทั้ง 19 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และสามารถสร้างมูลค่าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.65 ล้านล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 5.12 แสนล้านบาท เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ 3.24 เท่า
ทั้งนี้ มีการประเมินแยกตามแผนงาน 3 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 แผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 จำนวน 9 โครงการ กรอบวงเงินรวม 3.37 หมื่นล้าน มีการเบิกจ่าย 3.36 หมื่นล้าน ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แผนงานที่ 2 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 6 โครงการ กรอบวงเงินรวม 6.36แสนล้านบาท เบิกจ่ายรวม 6.34 แสนล้านบาท ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.09 ล้านล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 4.05 แสนล้านบาท รวมทั้งสามารถชะลอการเกิดหนี้เสียและเกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค
ในส่วนของแผนงานที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 1.35 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 1.27 แสนล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 1.07 แสนล้านบาท ช่วยลดความตึงเครียดของประชาชน ลดการเลิกการจ้างงาน ซึ่งแผนงานที่ 3 อยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจาก บางโครงการ เช่น โครงการกำลังใจ ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่โครงการคนละครึ่ง เป็นการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น.-สำนักข่าวไทย