ชัยนาท 1 มิ.ย. – “มนัญญา” สั่งกรมวิชาการเกษตรเร่งทำความเข้าใจเกษตรกร ส่งคืนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ลั่นต้องรับผิดชอบหากเกษตรกรโดนจับ ส่งคืนไม่ทัน 90 วัน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท เพื่อมอบนโยบายการเก็บคืนสารเคมีการเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยกล่าวว่า ขอให้สารวัตรเกษตรและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยงานช่วยกันสร้างความเข้าใจเกษตรกรนำสารเคมีการเกษตรทั้ง 2 ชนิด คืนร้านค้าที่ซื้อมาภายใน 90 วัน จากนั้นร้านค้ารวบรวมและแจ้งปริมาณต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 120 วัน เพื่อส่งคืนผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งปริมาณต่อกรมวิชาการเกษตรภายใน 270 วัน เพื่อทำลายต่อไป ทั้งนี้ ย้ำว่าไม่ต้องการให้ถึงขั้นต้องจับกุมเกษตรกรกรณีคืนไม่ทัน ถ้าเกิดเหตุเช่นนั้น ข้าราชการทุกคนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมกันรับผิดชอบถือว่ากลั่นแกล้งให้เกษตรกรต้องเดือดร้อน
“วันนี้สตอกสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด ทั้งประเทศมีเกือบ 20,000 ตัน ถือว่าเหลือปริมาณมาก ยืนยันว่า จะต้องเก็บคืนตามที่กฎหมายกำหนด และก้าวต่อไปที่จะดำเนินการ คือ การแบนสารไกลโฟเซต” นางสาวมนัญญา กล่าว
ด้านนางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไว้ในครอบครองก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรมวิชาการเกษตรส่งคืนร้านที่ซื้อมาไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ร้านค้าจัดจำหน่ายส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 256 สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้า แจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรเพื่อรวบรวมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายตามแบบ วอ./วก. 5 ไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ กำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสารฃพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสของผู้ครอบครองตามประกาศกระทรวงอุตสหกรมให้ปฏิบัติป็นไปตามประกาศอย่างเคร่งครัด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่กิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งดำเนินการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้าผู้ส่งออกผ่านช่องทางการรับรู้ต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ท สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ของกรมวิชการเกษตร การประชุมร่วมกับหน่วยงานจังหวัดและพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการกษตร (ศพก.) และผ่านทางสารวัตรเกษตรอาสา เป็นต้น
สำหรับวันนี้ (1 มิ.ย.) นางสาวมนัญญา มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติแก่สารวัตรเกษตรและเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันตกครอบคลุม 19 จังหวัด มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตาพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 7 หน่วยงานกับอีก 1 กลุ่มงาน มีบุคลากรที่เป็นสารวัตรเกษตร 16 คน เป็นผู้ช่วยสารวัตรเกษตร 28 คน ล่าสุดปริมาณสารเคมี 3 ชนิด สำรวจเดือนพฤษภาคม พบว่าทั่วประเทศมีร้านจำหน่าย 16,005 ร้าน สารที่เลิกใช้ ได้แก่ พาราควอต 8,562.64 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 697.08 ตัน ส่วนไกลโฟเซตอยู่ในมาตรการจำกัดการใช้มี 9,019.10 ตัน รวม 18.278.82 ตัน.-สำนักข่าวไทย