ทำเนียบ 30 พ.ค.- “วิษณุ” ระบุ หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทน แต่อาจต้องออกมติ ครม. อุดช่องโหว่ หากคุมสถานการณ์ไม่อยู่ สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ได้ ย้ำนายกฯ ยึดความปลอดภัยทางสาธารณสุขเป็นหลัก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าว ว่านายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ตั้งคณะกรรมการ เพียงมอบหมายให้ตนและพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอมาว่า หลังยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กกฎหมายใด หรือ ออกมาตรการใดมารองรับ เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความละเอียดอ่อน หากไม่มีสิ่งใดมารองรับจะเกิดปัญหาตามมา
นายวิษณุ กล่าวว่าส่วนตัวคิดว่าเมื่อถึงเวลาเกิดปัญหาแล้วก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกครั้ง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บัญญัติว่า กรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการเองได้ก่อน จากนั้น จึงไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ภายใน 3 วัน หากไม่ขอคณะรัฐมนตรีภายในกำหนด ถือว่าประกาศสถานการณ์นั้นสิ้นสุดไป
นายวิษณุ ย้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฎหมายแม่ที่ยังคงอยู่ แต่เมื่อจะใช้บังคับต้องออกกฏหมายลูก คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายกรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และหากยกเลิกประกาศใช้ไปแล้ว ต่อมาเกิดปัญหา แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่สุด ก็ไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกก็ได้ แต่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้ได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง
“สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ สั่งการได้ แต่อาจเกิดความลักลั่นในบางกรณี ดังนั้น อาจจะออกมติคณะรัฐมนตรีมาอุดช่องโหว่ในเรื่องตรงนี้ เนื่องจากต้องปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วนมาตรการที่จะออกมารองรับนั้น คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากสถาบันการศึกษา และจากกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพิจารณาด้วย” นายวิษณุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า คณะแพทย์และด้านสาธารณสุข มีการประเมินสถานการณ์การระบาด โควิด-19 ทุกวัน โดยฝ่ายของหมอจะเป็นคนให้คำแนะนำ และในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่า จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปถึงเมื่อใด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียึดเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ เรื่องความปลอดภัยทางสาธารณสุข ต้องเป็นที่วางใจได้ก่อน .- สำนักข่าวไทย