สามเสน 29 พ.ค.-เครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กและสตรี เสนอ 8 ข้อเรียกร้อง หยุดการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะมาตรการตรวจสอบการรับบริจาคผ่านสื่อโซเชียล
เครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กและสตรี เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จัดเสวนาเรื่อง “ระบบดูแลหญิงท้องไม่พร้อม คือการป้องกันอาชญากรรมเด็ก” วันนี้ (29พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยหยิบยกประเด็นกรณีของหญิงวัย 29 ที่แสดงตัวว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีลูก 2 คน อ้างว่าเด็กป่วยเป็นโรคประหลาด นำเด็กมาโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อขอรับบริจาค กระทั่งเป็นข่าวนำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินคดี
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า บริบทความหมายของคำว่าท้องไม่พร้อมแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม สำหรับประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดจากกรอบความคิดและค่านิยมของสังคมที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ กระบวนการที่เกิดขึ้นคือเครื่องสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ จากปัญหาในระดับปัจเจก(ครอบครัว)ที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง(สังคม) โดยเฉพาะนำไปสู่การที่ผู้ให้กำเนิดหรือมิจฉาชีพนำเด็กมาหาผลประโยชน์ให้ตนเอง
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ข่าวการนำเด็กมาหาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ สะท้อนถึงจุดอ่อนของกลไกต่างๆในสังคมที่มีต่อการให้ความช่วยเหลือหญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมและครอบครัวที่ไม่พร้อมจะดูแลเด็ก นอกจากนี้ปัญหาการอุ้มบุญแบบผิดกฎหมายพบว่ามีชาวไทยชาวต่างชาติร่วมกันทำเป็นกระบวนการ ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ผลต้องอาศัยกฎหมายจากรัฐที่ชัดเจนและจริยธรรมจรรยาบรรณของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการกระทำที่ต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าผลตอบแทนหรือเม็ดเงินที่ได้รับ
ทั้งนี้ คณะทำงานและเครือข่าย ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องเสนอแนะต่อกรณีการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก และการขอเด็กโดยไม่ดำเนินการตามกฎหมายบุตรบุญธรรมและการทารุณกรรมเด็กเพื่อนำมาหารายได้ คือ 1.ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทบทวนพัฒนากลไกในการป้องกันการท้องไม่พร้อมให้ทั้งชายหญิงมีบทบาทรับผิดชอบเสมอกัน
2.สังคมไทยควรปรับทัศนคติมุมมองหญิงท้องไม่พร้อมหรือจำเป็นต้องยกบุตรให้ครอบครัวบุญธรรม เป็นการเข้าใจและเห็นใจมากกว่าประณาม
3.จัดบริการทางสังคมสำหรับหญิงท้องไม่พร้อม อาทิ บริการปรึกษาทางเลือก การช่วยเหลือทั้งก่อนและหลังคลอดที่เพียงพอ
4.รัฐควรเพิ่มเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าจาก 600 บาท เป็น 2,000 บาท
และ 5.มาตรการตรวจสอบการรับบริจาคในสื่อโซเชียลมีเดียที่นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก .-สำนักข่าวไทย