สุราษฎร์ธานี 27 พ.ค. – ราคายางพารา ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การบริโภคในหลายภาคธุรกิจลดลง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงเดินหน้าโครงการส่งเสริมการปลูกแทน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา
ทุเรียนในสวนยางพาราที่กำลังออกลูกเต็มต้น รอวันเก็บผลผลิต ของนางใกล้รุ่ง ทับแก้ว เกษตรกรชาวสวนยางพารา อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว มาเป็นปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งนอกจากทุเรียนแล้ว ในแปลงยางแปลงนี้ ยังมีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น ที่สามารถสร้างรายได้มั่นคง ลดความเสี่ยงด้านราคายางพารา และสร้างสมดุลระบบนิเวศอีกด้วย
แปลงยางของพี่ใกล้รุ่ง มีทั้งที่ให้ผลผลิตน้ำยางแล้ว และยางอ่อนที่ยังไม่เปิดกรีดหน้ายาง เช่น ยางอายุ 3 ปี พื้นที่ 10 ไร่ แปลงนี้ ขอรับทุนปลูกแทนจากการยางแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มต้นซื้อพันธุ์กล้ายางและปุ๋ย แปลงนี้ปลูกพืชร่วม ทั้งกล้วย ขายผลและหน่อ รายได้สัปดาห์ละกว่า 12,000 บาท ปลูกผักสวนครัว อ้อย เฉพาะมะเขือพวง รายได้สัปดาห์ละ 2,000-3,000 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่จาก กยท.ให้คำแนะนำต่อเนื่อง ทำให้แม้ราคายางพาราผันผวน แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว
ปัจจุบัน กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนหลายรูปแบบ ทั้งปลูกแทนต้นยางเก่าด้วยยางพันธุ์ดี ปลูกแทนด้วยไม้ผล ไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ กยท.กำหนด ปลูกแทนด้วยปาล์มน้ำมัน และการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยให้ทุนสนับสนุนการปลูกแทนไร่ละ 16,000 บาท
ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ตลอดจนแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในภาคการผลิตลดลง การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแทน จึงเป็นทางเลือกด้านอาชีพให้เกษตรกร และช่วยแก้ปัญหายางล้นตลาด ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต. – สำนักข่าวไทย