นนทบุรี 25 พ.ค. – พาณิชย์จับมือ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ อย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจ ให้สามารถดำเนินชีวิตและเดินหน้าประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับไม้ยืนต้นที่มีค่ามาจดทะเบียนเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่ง ธ.ก.ส.เป็นธนาคารแรกที่เกษตรกรสามารถใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ
ทั้งนี้ เบื้องต้น ธ.ก.ส.ได้นำร่องให้สินเชื่อแก่เกษตรกรที่มีการนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบริเวณบ้านจำนวน 44 ต้น ประกอบด้วย มะขาม 9 ต้น มะกอกป่า 1ต้น สะเดา 14 ต้นตะโก 1ต้น โมกมัน 1ต้น งิ้วป่า 1 ต้นกระท้อน 1 ต้น มะเกลือ 2 ต้น ยอป่า 1 ต้นมะม่วง 1ต้น และ ไม้แดง 12 ต้น มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีไปแล้ว วงเงินสินเชื่อจำนวน 115,000 บาท ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ต้องการกู้เงินและใช้ไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนการกู้เงินเป็นไปตามระเบียบของ ธ.ก.ส.ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 โดยมีแนวทางส่งเสริมให้ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจทั้งเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมเชิงอนุรักษ์ผ่าน ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีการดำเนิน โครงการธนาคารต้นไม้
ทั้งนี้ กรมฯ และ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการนำร่อง ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านดอนศาลเจ้า อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดย ธ.ก.ส. ให้ผู้ที่ผ่านการอบรมผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ของ ธ.ก.ส. เป็นผู้ประเมินราคาต้นไม้ของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ด้วย ทำให้การนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการขยายโครงการดังกล่าวให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งการส่งเสริมให้มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนพื้นที่ของตนเอง สามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดขายเพียงอย่างเดียวอีกทั้ง ไม้ยืนต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของต้นไม้ ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินของเกษตรกรก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งประเทศ การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด จึงเป็นวิธีการยกระดับการแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญให้ทุเลาเบาบางลง และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า” ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อการออม/อนุรักษ์/เพิ่มพื้นที่ป่า และเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้กับประเทศ ซึ่งทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ ธ.ก.ส. ต่างก็เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่านี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย