กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – แบงก์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท เพื่อช่วยลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่ายจากผลกระทบโควิด-19 โดยธนาคารกรุงศรีปรับลดดอกเบี้ยลงต่ำสุดเหลือ 5.58% ขณะที่ธนาคารกรุงเทพปรับลดดอกเบี้ยต่ำสุดเหลือ 5.25%
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้า เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยลบที่ตามมา
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อไปแล้ว 3 ครั้ง นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา MLR ปรับลดลงจาก 5.83% เป็น 5.58% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี MOR ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 5.95% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 6.05%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงสภาวะปกติ เพื่อเร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมาโดยเร็ว ธนาคารฯ จึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยเร่งด่วน นับเป็นการลดดอกเบี้ยติดต่อกันต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19 ในหลายเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR ปรับลดจาก 5.375% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR ปรับลดลงจาก 6.095 % เป็น 5.845% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR ปรับลดลงจาก 6.345 % เป็น 5.995 % ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร
ธนาคารฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และช่วยให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด ทั้งนี้นอกจากมาตรการลดดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารฯ ยังสนับสนุนแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่นี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารกสิกรไทยพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตอบสนองการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ถึงมือลูกค้าทุกกลุ่มทันที โดยธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลงสูงสุดถึง 0.38% ทำให้อัตราดอกเบี้ย MOR คงเหลือเพียง 5.84% อีกทั้งธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MRR ลงอีก 0.13% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยคงเหลือ 5.47% และ 5.97% ตามลำดับ เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความตั้งใจของธนาคารในการช่วยประคับประคองสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลและลูกค้าผู้ประกอบการ เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ค่อย ๆ ฟื้นตัวและเดินหน้าไปได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป
ด้านนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลงเหลือต่ำสุด 5.25% เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจและลดภาระของประชาชน
โดยธนาคารกรุงเทพได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา MLR เหลือ 5.25% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี MOR เหลือ 5.875% และ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR เหลือ 5.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 .-สำนักข่าวไทย