กรุงเทพฯ 17 พ.ค. – กยท.เผยชาวสวนยางขึ้นทะเบียน 1.8 ล้านคน ลุ้นผลตรวจสอบสิทธิ์ เปิดระบบรับเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยา
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ กยท.รับแจ้งข้อมูลและรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า ได้ดำเนินการเสร็จแล้วทุกพื้นที่สรุปทะเบียนปัจจุบันมีเกษตรกร 1,823,588 ราย (ณ วันที่ 16 พ.ค.63) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 30 เมษายน 2563 จำนวน 73,008 ราย โดย กยท.จะส่งรายชื่อทั้งหมดให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รวบรวมส่งกระทรวงการคลัง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือโครงการเราไม่ทิ้งกัน และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
สำหรับลำดับการโอนเงินเยียวยา รอบแรกเริ่มจ่ายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงิน 1,053,195 ราย ส่วนรอบถัดไป คาดว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะทยอยจ่ายเงินปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางที่ยังไม่ได้รับเงินวันดังกล่าวจะมีการทยอยโอนเงินเข้าบัญชีในวันถัดไป
ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา กยท.ได้เปิดให้บริการรับเรื่องอุทธรณ์ เพื่อตอบข้อซักถาม ให้คำปรึกษาและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบอุทธรณ์ ทั้งนี้ เพื่อรอมาตรการช่วยเหลือทบทวนสิทธิ์ โดยสามารถโทรศัพท์สอบถามหรือขออุทธรณ์ด้วยตนเองได้ที่ กยท.ในพื้นที่ใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม อยากให้เกษตรกรชาวสวนยางรอผลการโอนเงินทั้ง 2 รอบก่อน เพื่อความชัดเจนของข้อมูล หาก ธ.ก.ส.โอนเงินครบตามรอบแล้วเกษตรกรชาวสวนยางที่ยังไม่ได้รับเงินให้มาขออุทธรณ์ต่อไป
นายอนันต์ สุวรรณ์รัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ประสบปัญหายังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากสาเหตุต่าง ๆ กระทรวงเกษตรฯ ได้เปิดให้บริการระบบรับเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร โดยเกษตรกรที่มีปัญหาสามารถโทรศัพท์สอบถาม หรือเดินทางไปขออุทธรณ์ด้วยตัวเองได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาค ได้แก่ 1. สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด 2. สำนักงานประมงอำเภอและจังหวัด 3. สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัด 4. สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน 5. เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4 6. สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด 7. การยางแห่งประเทศไทย (จังหวัด/สาขา) และ 8. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่จะคอยตอบข้อซักถามต่าง ๆ และช่วยแก้ไขปัญหา หากมีปัญหาที่หน่วยงานในระดับพื้นที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จะส่งเรื่องให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการแก้ไขภายใน 5 วัน และหากหน่วยงานต้นสังกัดยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีกจะส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการอุทธรณ์ดำเนินการต่อไป ซึ่งเกษตรกรที่ยื่นอุทธรณ์สามารถตรวจสอบสถานะการอุทธรณ์ฯ ได้ด้วยตัวเอง โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.moac.go.th หรือ www.อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร.com ได้โดยตรง.-สำนักข่าวไทย