กรุงเทพ ฯ 15 พ.ค. – ทีเอ็มบี ประเมินการฟื้นของธุรกิจหลังปลดล็อกโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) “ฟื้นแบบ V-Shape” เป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นและพึ่งพิงตลาดในประเทศ 2) “ฟื้นแบบ U-Shape” เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากการทยอยปลดล็อกดาวน์ตลาดในประเทศและตลาดส่งออก และ 3) “ฟื้นแบบ L-Shape” เป็นกลุ่มที่แม้จะคลายล็อกดาวน์แล้วแต่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากโครงสร้างภายในธุรกิจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการฟื้นตัว คือ 1. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ V-Shape (ภายใน 3 เดือน) ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ โรงพยาบาล/ คลินิกและยารักษาโรค ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู อาหารสัตว์ ไอทีและสื่อสาร กลุ่มนี้จะเริ่มฟื้นตัวกลับมา จากลักษณะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและส่วนใหญ่พึ่งพิงตลาดในประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงการจ้างงานที่มีอยู่จำนวน 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 29.6% ของการจ้างงานรวมของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งกระจายตัวไปในธุรกิจผลิต-ขายปลีก ขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจสุขภาพและผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
2. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ U-Shape (ในช่วง 3-6 เดือน) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ พลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางบกและทางเรือ บริการธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ต้องอาจใช้เวลาพอสมควรกว่าการคลายล็อกดาวน์จะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ทยอยจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้าง จากการจ้างงานปกติอยู่ที่ 6.4 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 39.5% กระจายตัวไปในธุรกิจบริการทางธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างและอาหารเครื่องดื่ม
3. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ L-Shape (มากกว่า 6 เดือน) ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ธุรกิจบันเทิงและการกีฬา ยานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชัน เหล็ก ยางพารา คาดว่ากลุ่มนี้อาจจะฟื้นตัวไม่ทันปีนี้ แม้ว่าปลดล็อกดาวน์แล้วแต่ยังคงได้ผลกระทบจากโควิด จากมาตการรัฐและพฤติกรรมของผู้คนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อ และที่สำคัญกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่หดหายไป รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในธุรกิจจากภัยธรรมชาติ การแข่งขันภายในธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี กฎระเบียบของภาครัฐ ฯลฯ คาดว่าในปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้จะกลับจ้างงานได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่จำนวน 5 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 30.9% กระจายไปอยู่ในธุรกิจร้านโรงแรมร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์และกลุ่มยานยนต์
ทั้งนี้ ระยะเวลาการฟื้นตัวแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมรับกับลักษณะการฟื้นตัวและกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ถ้าธุรกิจฟื้นตัวแบบ V-Shape อาจจะพิจารณาให้ฝ่ายการตลาดเริ่มพูดคุยกับลูกค้าถึงสินค้าที่จะขายและเริ่มมองหาตลาดใหม่เพิ่มเติม และหากธุรกิจฟื้นตัวแบบ U-Shape อาจจะพิจารณาจัดการแผนการผลิตและการตลาดในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดรวมถึงใช้ช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น และหากธุรกิจฟื้นตัวแบบ L-Shape จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะเป็นธุรกิจที่ตกที่นั่งลำบาก เพราะสิ่งที่เผชิญไม่ใช่แค่โรคระบาด COVID-19 แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมและปัญหากำลังซื้อต่อสินค้าลดลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพพร้อมทั้งลดต้นทุนให้มากที่สุดเพื่อจะฟื้นกลับมาได้เร็วในปีหน้า สำหรับภาครัฐสามารถนำลักษณะการฟื้นตัวของ 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้นไปกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างให้เหมาะสมตามการฟื้นตัวได้ด้วยเช่นกัน .-สำนักข่าวไทย